ในท่ามกลางสังคมไทยร่วมสมัยที่ "ความบันเทิง" มีความหมายเท่ากับ "การพักผ่อน" ละครเวที (และละครเพลงทั้งหลาย) ที่มีโปรดักชั่นขนาดใหญ่ได้ผูกขาดพื้นที่สาธารณะ ทั้งพื้นที่เชิงกายภาพ ผ่านโรงละครขนาดใหญ่ทั่วมุมเมือง และพื้นที่การสื่อสารมวลชน ด้วยการโฆษณาโปรโมตตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่จินตนาการร่วมของคนไทยส่วนใหญ่เกี่ยวกับ "ละครเวที" จึงมักจะมีความหมายจำกัดในเชิงมโหรสพ mass product ที่ใช้แสง สี เสียงและเทคนิคแพรวพราวเพื่อการพักผ่อนสำเร็จรูปแต่เพียงถ่ายเดียว
ทว่า เพื่อต้านกับกระแสจักรวรรดินิยมทางสุนทรียะนี้ ละครเวทีที่มีชื่อเรียก (ยัง) ไม่ลงตัว (เสียที) ว่า "ละครอิสระ ทางเลือกหรือนอกกระแส" จึงเกิดขึ้นในแนวคู่ขนานเสมอมา โดยกลุ่มคนทำละครอิสระที่มีความหลากหลายในสไตล์ แนวคิดและการนำเสนอ ตั้งแต่แนวชุมชนนิยม แนวทดลอง แนวผสมผสานตะวันตก/ตะวันออก ล่าสุดไปจนถึง "การแสดง" (performance) ที่ผสมหลากหลายสื่อและเทคนิค หมิ่นเหม่เส้นแบ่งระหว่างละครพูด นาฏศิลป์และทัศนศิลป์ (ความไม่ชัดเจนในการจัดประเภทของการแสดงประเภทนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงต่อไป อย่างไรก็ดี สังคมไทยจัดตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มคนที่ทำงาน "การแสดง" ประเภทนี้เข้าในหมวดหมู่ของ "คนทำละคร")
ปรากฎการณ์การทำลายเส้นแบ่งของการจัด "ประเภท" (genre) ศิลปะการแสดงตามขนบ ที่กระทำภายในพื้นที่นามธรรมที่เปิดกว้างของ "เวทีละคร" นี้ดูจะเป็นความพยายามปรับมุม "การตั้งคำถาม" หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นความพยายามเข้าไปปะทะกับการแบ่งแยกและเขตพรมแดน และทดลองสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆในการ "สื่อ" ซึ่งเทคโนโลยีและรสนิยมการเสพ "ศิลปะ" ของสังคมร่วมสมัยได้เปิดพื้นที่ขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจนักหากว่า "ละครสื่อผสม" นี้จะได้กลายมาเป็น "บรรทัดฐาน" (norm) ล่าสุดของนักละครไทยนอกกระแสในยุคปัจจุบัน (ที่ประสบความสำเร็จมากน้อยต่างกันไป) ในภาวะของสังคมยุคเปลี่ยนผ่านที่ความขัดแย้งรุนแรงและกินวงกว้างยิ่งกว่ายุคใดสมัยใดในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางศีลธรรม ทางการเมือง หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งเชิงสุนทรียรสภายในพื้นที่ของศิลปะเองก็ตาม
"FIN" the fetishism story ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่ Democrazy Theatre Studio โรงละครอินดี้เล็กๆ ย่านลุมพินี เป็นละคร/การแสดงสื่อผสมของกลุ่มผู้สร้าง"Silent Scream : journey to the dream of murderer" (2009) นำทีมและกำกับการแสดงโดยวสุรัชต อุณาพรหม
ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น "เด็กหนุ่มผู้ตกหลุมรักส้นสูงของแม่" ของโตมร ศุขปรีชา "FIN" เป็นเรื่องราวของตัวละคร 4 คน ประกอบด้วย 1. เด็กหนุ่มเนิร์ด (ที่ความเป็นตัวตนลักลั่นระหว่างความเป็น "เด็กชาย" กับความเป็น "ชายหนุ่ม") 2. ผู้หญิงหลากมิติ (ที่แสดงออกแบบ liberal แต่โหยหาบางอย่างที่ขาดหายไป) 3. บ.ก.แฟนชั่นหญิงสุดแกร่ง (ซึ่งเป็นอวตารของเฟมินิสต์ยุคเหยียดเพศชาย อึดอัด กดทับและแตกร้าว) และ 4. ชายหนุ่มแมนเกินร้อย (ที่พยายามแสดงตัวเป็นผู้ชาย macho แต่หวาดกลัวและหวาดหวั่น)
เรื่องราวการเดินทางที่ไขว้ทับของพวกเขาเกิดขึ้นภายใต้ฉากและในบรรยากาศของสังคมเมืองร่วมสมัย ผ่านบทพูดสลับกับการเคลื่อนไหว (movement) โดยมีวีดีโอภาพเคลื่อนไหวใหญ่มหึมาเป็นฉากหลัง (ประกอบด้วย Motion graphic และ Animation) ซึ่งทำหน้าที่ บางครั้งเป็นกระจกสะท้อน บางครั้งเป็น "ผู้เล่าเรื่อง" บางครั้งเสริมเรื่องเล่าเพื่อถ่วงดุลกับอารมณ์ ความรู้สึกและแรงปรารถนาของตัวละคร
"FIN" หรือ "ฟิน" เป็นศัพท์สแลงที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกลางไทยในปัจจุบัน สันนิษฐานว่ามาจากศัพท์ภาษาฝรั่งเศสของวงการภาพยนตร์ "la fin" (เป็นคำนามหมายถึง "จุดจบ" "ตอนจบ") ซึ่งเป็นคำที่ปรากฎขึ้นบนจอหลังจากที่เรื่องราวในภาพยนตร์จบลง ในวงการภาพยนตร์ไทย นิยมใช้คำนี้ในความหมายว่า ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเมื่อดูจบแล้วทำให้เรามีความสุขมาก หรือสนองตอบต่อรสนิยมการเสพภาพยนตร์ของเรา เป็นอารมณ์ที่เทียบเคียงกับการถึงจุดสุดยอด เช่น "หนังเรื่องนี้ดูแล้วฟินมาก" ต่อมา คำนี้ได้ถูกใช้ในความหมายกว้าง คือ หมายถึง การที่สิ่งหนึ่งทำให้เรามีความสุขสูงสุดเทียบเคียงกับการถึงจุดสุดยอด เช่น "ดาราคนนี้เห็นหน้าแล้วฟินมาก"
เห็นได้ชัดว่า "ฟิน" ไม่ว่าจะในกรณีใดล้วนมีนัยยะของการตอบสนองต่อแรงปรารถนาทางเพศ หรือ "การบรรลุถึงจุดสุดยอด" ในกิจกรรมทางเพศทั้งสิ้น และในความหมายตรงตัว (แบบ contemporary Thai) นี้เองที่เราอาจจะต้อง "อ่าน" ชื่อของการแสดงสื่อผสมชุดนี้
"FIN" the fetichism story คือเรื่องราวของการปลดปล่อย "แรงปรารถนาที่เหนือการควบคุม สัณชาตญาณที่ถูกเก็บซ่อนไว้" ตามคำเปรยในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์
เริ่มต้นด้วย "เสียง" ที่เล่านิทานก่อนนอนชวนฝันว่าด้วยเจ้าหญิง เจ้าชาย ปราสาท รองเท้าส้นสูงสีแดง โดยมีภาพเคลื่อนไหวของ "ปากสีแดง" ประกอบคู่กันไป เรื่องจบลงด้วยปริศนาของ "ประตู" และ "รองเท้าส้นสูงสีแดงที่เปื้อนคราบ" (หรือเมือกอะไรซักอย่าง)
ปาก ประตูและคราบเมือกทำให้เราเข้าใจได้ไม่ยากว่า "เสียง" ของ "ปากสีแดง" นี้กำลังชักชวนเราเข้าสู่จินตภาพว่าด้วยเรื่องเซ็กส์ ผ่านการร่ายมนต์เรียก "fetich" (สิ่งของหรืออวัยวะของร่างกายที่ทำให้เกิดอารมณ์ปรารถนาทางเพศ) ให้ปรากฎร่างเบื้องหน้าผู้ชม ตรงตามคำมั่นสัญญาที่ปรากฎในชื่อรองของการแสดงชุดนี้ "the fetichism story" และตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้เห็น "สิ่งของเฟทิช" ต่างๆที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ "ตัวตน" ของตัวละครแต่ละคน ในโลกที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันถูกฉาบเคลือบจนหนาเตอะ และสิ่งของได้กลายมาเป็นที่พึ่งทางใจและทางจิตวิญญาณ
ตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้เห็นรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่อยู่บนฐานของ "แรงขับเคลื่อน" ซึ่งแสดงออกมาในรูปของ "ความรุนแรง" และ "ความหวาดระแวง" ความขัดแย้งในความเป็นตัวตนภายในของทุกตัวละครถูกถ่ายทอดออกมาพร้อมๆ กับความขัดแย้งระหว่างตัวละครอันเต็มไปด้วยสีสันที่เข้มข้น บ้างขบขัน บ้างหงอยเหงา บ้างชวนให้ขนหัวลุก
"ฉากเริงระบำกับบันนี่กระต่ายน้อย" เป็นฉากที่ "ฟิน" สุดๆ เพราะเป็นฉาก climax ของการแสดงชุดนี้ ตัวละครเด็กหนุ่มเนิร์ดเคลื่อนไหวราวกับกำลังเสพสังวาสกับสาวบันนี่รองเท้าส้นสูงสีแดง (ซึ่งคือภาพแทนของ "เฟทิช" ของชายนักรักทั้งหลายทั้งมวล) ส่วนเขาจะ "ฟิน" หรือไม่อย่างไรนั้น คงต้องลองไปพิสูจน์ "ความฟิน" กันเองบนเวทีละคร
เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ต่างไปจากฉากอื่นอีกหลายฉาก ในฉาก climax นี้ซึ่งมีตัวละครเพียงสองตัว "แลกเปลี่ยน”" กัน จะต้องมีตัวละครอีกคนทำหน้าที่เป็น "ผู้ดู" ผู้จดจ้อง ผู้สังเกตการณ์ ทำให้ฉาก duo แปรสภาพเป็นฉาก trio ผ่านการ "จ้องมอง" ของคนอื่นไปโดยปริยาย ราวกับว่า "แรงปรารถนาที่เหนือการควบคุม" หรือ "สัญชาตญาณที่ถูกเก็บซ่อนไว้" ไม่สามารถถูกปลดปล่อยได้อย่างแท้จริง หรือสามารถถูกปลดปล่อยได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ "สายตา"
หรือ "สัญชาตญาณ" ที่เราเชื่อว่ามีอยู่จริง ในความเป็นจริงนั้นเป็นเพียงแค่ "มายาคติ" เพราะ "จิตใต้สำนึก" ของเราไม่สามารถหลุดพ้นจากพันธนาการของ "การอบรมเลี้ยงดู" หรือ "จารีตทางสังคม" ได้อย่างแท้จริง ?
หรือความสัมพันธ์ทางเพศไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมส่วนตัว แต่เป็นกิจกรรมทางสังคมที่ถูกกำกับและจับจ้องโดย "สายตา" ไม่ว่าจะเป็น "สายตา" ภายในตัวเราเอง หรือ "สายตา" ของสังคม ซึ่งแท้จริงแล้ว คือสิ่งเดียวกัน ?
หรือในสังคมไทยสมัยใหม่ ที่เรื่องเพศและเรื่องเซ็กซ์ถูกทำให้เป็นสิ่งน่ารังเกียจ (ที่พึงกระทำแต่ไม่พึงกล่าวถึง) ความพยายามก้าวข้ามเส้นแบ่งเขตทางศีลธรรมและจารีตของกลุ่มชนชั้นกลางไทยหัวก้าวหน้าจึงเป็นกระบวนการที่ทุรนทุรายและแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากขาด "การตระหนักรู้" ถึงเครือข่ายโยงใยทางศีลธรรมที่สังคมใช้ควบคุมและกำกับ "จิตใต้สำนึก" ของเราอยู่อย่างแยบยล ?
สายตา "รู้สึกผิด" ของเด็กหนุ่มเนิร์ดอาจกำลังสะท้อนความขัดแย้งเบื้องลึกที่ซับซ้อนนี้ของสังคมไทยร่วมสมัย !
"ฟิน" นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ผ่านมุมมองด้านเพศและเซ็กซ์ เพื่อสำรวจลักษณะของความสัมพันธ์นี้ ที่มีทั้งความรุนแรงและความอ่อนโยน ความเศร้าและความสุข ความละอายและความพึงพอใจ ความน่าขบขันและความเป็นโศกนาฏกรรม เพื่อตั้งคำถามที่กว้างกว่า นั่นคือคำถามว่าด้วยธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
อะไรคือความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ที่ระดับ "ศูนย์" คือ ระดับที่ไร้การเคลือบเงา ณ จุดที่เราเปราะบางที่สุด ณ จุดที่เราเปลือยเปล่าที่สุด ณ จุดที่ความรุนแรงไม่แตกต่างจากความอ่อนโยน ณ จุดที่เส้นแบ่งระหว่างความรักกับเซ็กส์เลือนลาง ?
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ "เซ็กส์" ในการแสดงชุดนี้มีไว้เพียงแค่สำหรับเพศหญิงเพศชายเท่านั้น ไม่มีพื้นที่สำหรับคนรักร่วมเพศหรือคนไร้เพศหรือคนที่มีรสนิยมทางเพศเบี่ยงเบน (แม้จะมีฉากความหลงใหลของเด็กหนุ่มต่อรองเท้าส้นสูง แต่ก็ขาดความเชื่อมโยงกับตรรกะทั้งหมดของเรื่องและไม่มีความหมายใดต่อพัฒนาการของเรื่อง)
และเป็นที่น่าเสียดายที่ "la fin" หรือตอนจบของเรื่องมีกลิ่นอายโรแมนติกและมีความเป็น "ขนบ" ซึ่งลักลั่นกับภาพหลอน ภาพฝันและแฟนตาซีเซ็กส์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนหน้าซึ่งได้ทำการสั่นคลอนความเชื่อและมายาคติเกี่ยวกับเรื่องเพศ
และนี่อาจจะเป็นอีกเส้นแบ่งพรมแดนที่ศิลปินไทยจำเป็นต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้
อย่างไรก็ดี อาจถือได้ว่าการแสดงสื่อผสม "FIN" the fetichism story เป็นหนึ่งใน"ละครอิสระแห่งปี" ที่เรา เสรีชนผู้มีใจรักในศิลปะและเชื่อมั่นในอิสรภาพแห่งการแสดงออกควรต้องไปดู เพราะ "FIN" ตั้งคำถามกับ "ข้อจำกัด" ที่มีอยู่มากมายโยงกันเป็นใยแมงมุมที่หนาแน่นในสังคมไทย เพื่อลุกล้ำท้าทายบรรทัดฐานทั้งหลาย ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่บรรทัดฐานทางศีลธรรม แต่หมายรวมถึงข้อจำกัดที่คับแคบของคำว่า"ศิลปะ" ของกระทรวงวัฒนธรรมและสังคมไทย
ดังนั้น การไปชม "FIN" the fetichism story จึงถือเป็นการประกาศก้องและตอกย้ำถึงเสรีภาพที่จะมี "ทางเลือก" ในการเสพงานศิลปะ, เป็น "การแสดงออกถึงรสนิยมทางสุนทรียะ" (aesthetic act) และ "การแสดงออกทางการเมือง" (political act) ในเวลาเดียวกัน เพราะนี่คืองานนอกกระแส ณ ชายขอบของพื้นที่ทางวัฒนธรรม ไร้เงินก้อนโตจากงบไทยเข้มแข็ง และมีเพียงความต้องการ "สื่อสาร" ของคณะผู้สร้างเท่านั้นที่ทำให้การมีอยู่ของมันเป็นจริงได้
จึงมีเพียงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ "คณะผู้ชม" และการวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น ที่จะทำให้ "ศิลปะการละคร" ของคณะละครเวทีอิสระร่วมสมัยของไทยสามารถจะมีพัฒนาการได้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งในเชิงความคิดและเทคนิคการนำเสนอ และสามารถที่จะเอาตัวรอดในทางเศรษฐกิจท่ามกลางกระแสนิยมทุนได้
หมายเหตุ "FIN" the fetichism story จัดแสดงที่ Democrazy Theatre Studio ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ถึง 10 เมษายน 2554 เวลา 20.00 น. (เสาร์ อาทิตย์ เพิ่มรอบ 16.00) บัตรราคา 350 บาท
จองบัตรได้ที่ www.bananabooking.com หรือ โทร 081-1732097
ดูวีดีโอประชาสัมพันธ์ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=YQu-CAcZFHI
หรือ Facebook event http://www.facebook.com/event.php?eid=176603429051662
ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนออนไลน์ 2 เมษายน 2554 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1301742766&grpid=no&catid=08
No comments:
Post a Comment