จากประเด็นถกเถียงเรื่องการรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในขณะนี้ ที่วนเวียนสู่การตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของพิธีกรรมซึ่งดำรงอยู่ในฐานะประเพณีอันดีงาม ผลดี ผลเสีย ที่เกิดขึ้น จากมุมมองของกลุ่มคนที่เห็นด้วย และเห็นแย้ง
วันที่ 15 มิ.ย.54 ที่หอประชุมใหญ่ ห้อง 305 มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ จัดเสวนา “Be Young and Shut Up ? พิธีกรรมการรับน้องใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาของไทย” โดยวิทยากร พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย คำ ผกา นักเขียน และคอลัมนิสต์ วิพากษ์สังคมไทยและวันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ นักศึกษาปริญญาเอก Birkbeck, University of London
ตอบคำถามที่มาโซตัส ในประวัติศาสตร์ไทย
วันรัก ให้ข้อมูลถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของระบบโซตัสของไทยว่า มีช่วงเวลาของการรับระบบนี้เข้ามาอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ทศวรรษ 2440) มีการรับระบบอาวุโส ซึ่งพัฒนามาจากโรงเรียนกินนอน ในลักษณะ public school ในประเทศอังกฤษเข้ามาใช้ ในยุคสมัยนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราโชบายในการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยการรวมศูนย์อำนาจมาอยู่ที่ส่วนกลาง เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวในการปกครอง จากเดิมที่ยังไม่ให้มีสำนึกของความเป็นชาติ ด้วยการผลิตข้าราชการพลเรือนออกไปปกครองหัวเมือง และเมืองขึ้นต่างๆ
ระบบโซตัสในยุคนี้ที่รับมาจะต้องสร้างนักเรียนที่ได้รับการเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่าดรุณาณัติ (ตำแหน่งหัวหน้านักเรียน) จากนักเรียนอาวุโสระดับสูงผู้เรียนดีและประพฤติดีเพื่อทำหน้าที่ช่วยครูในการอบรมสั่งสอนและดูแลนักเรียน เริ่มต้นจากในโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งตอนหลังพัฒนามาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากโรงเรียนมหาดเล็กเป็นกลไกสำคัญในทำให้โครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจในการปกครองและควบคุมเมืองขึ้นต่างๆ มากขึ้น แล้วจุฬาฯ ก็รับต่อมาในเรื่องระบบความอาวุโส และได้ผนวกกับแนวคิดเรื่องระเบียบ ประเพณี สามัคคี และน้ำใจ จึงเกิดเป็นคำว่าโซตัส (S: Senior O: Order T: Tradition U: Unity S: Spirit) ขึ้น กลายเป็นคำขวัญทั้ง 5 ของนิสิตจุฬาฯ และเป็นปณิธานในการอบรมสั่งสอนของผู้บริหาร
วันรัก กล่าวต่อมาว่า ระบบโซตัสในช่วงนั้นมีลักษณะที่เป็นอุดมคติ คือเป็นจินตนาการร่วมของมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการที่ต้องไปปกครองหัวเมือง ไม่มีความรุนแรงใดๆ แต่ระบบโซตัสที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ที่มีการว้าก การลงโทษรุ่นน้อง เริ่มเมื่อปี 2480 ในยุคชาตินิยม ที่ต้องการผลิตราษฎรมาเป็นกำลังส่วนหนึ่งของประเทศ โดยในช่วยนั้นรัฐราชการไทยมีนโยบายส่งนักศึกษาไปเรียนต่อปริญญาตรีในอเมริกา และกลุ่มคนเหล่านี้น่าจะเป็นผู้นำเอาประเพณีมาใช้
วันรัก อ้างถึงข้อสังเกตของ ชาญวิทย์ เกษตรสิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมือง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เห็นภาพประเพณีคลุกโคลน ปีนเสา และการลงโทษน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) และพบว่าประเพณีเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในมหาวิทยาลัยไทย นอกจากนั้นยังมีการนำเอาประเพณีรับน้องมาจากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอเมริกา โดยนักศึกษาเกษตรศาสตร์
“ถ้าเรามองในแง่ของการเมืองเชิงวัฒนธรรม มองในแง่ของประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าระบบโซตัสเป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งถือกำเนิดจากการหยิบยืมองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาจากมหาอำนาจจักรวัตินิยม ทั้งอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งอเมริกา แม้จะต่างกรรม ต่างวาระ แต่ก็อิงอยู่บนกรอบคิดเดียวกัน คือกรอบคิดแบบเจ้าผู้ปกครองอาณานิคม โดยมีรูปแบบที่เข้มข้นเพื่อกำหลาบเมืองขึ้น” วันรักกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า ในทางเนื้อหาของระบบโซตัสเป็นการนำเอารูปแบบการปกครองแบบทหารมาใช้กับระบบการศึกษาของพลเรือน
โซตัสดำรงอยู่คู่การเมืองแบบจารีต
วันรัก ให้ข้อมูลต่อมาว่า ปี 2510 เป็นจุดหักเหในประวัติศาสตร์ระบบโซตัสในไทย เมื่อกระแสประชาธิปไตยถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้งเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร โดยเฉพาะในหมูนักเรียนนักศึกษา ประเพณีแบบจารีตนิยมถูกตั้งคำถามอย่างถอนรากถอนโคน เพราะเผด็จการทหารไม่เพียงปกครองทางการเมืองแต่ยังใช้กระบวนการปลูกฝังกล่อมเกลาทางความคิดผ่านระบบประเพณี วิธีคิด ระบบจารีติต่างๆ ดังนั้น ระบบโซตัสซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นการรับน้องบ้าง ประชุมเชียร์บ้าง จึงถึงตั้งคำถามในฐานนะหัวขบวนของการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่อยู่ในสภาพเกียจคร้านทางปัญญา และชินชาทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากความพ่ายแพ้ของนักศึกษาในปี 2519 ระบบโซตัสได้กลับเข้ามาและดำรงอยู่คู่ขนานกับการเมืองแบบจารีต ที่มีฐานอยู่บนระบบอุปถัมภ์และเครือข่ายของชนชั้นปกครอง โดยการใช้อำนาจถูกทำให้ซับซ้อนขึ้น มีความนุ่มนวลมากขึ้น เพราะกลุ่มผู้นำรับเอาเครื่องมือคือระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์เข้ามาผนวก
“เราเคยตั้งคำถามจริงๆ หรือเปล่าว่า ประเพณีที่เราต้องทำ มันนำมาซึ่งการปลูกฝังบุคลิก อัตลักษณ์ของความเป็นนักศึกษาแบบใด มันต้องการปลูกสร้างอะไร” วันรักกล่าว
อาจารย์จากคณะศิลปะศาสตร์ยังตั้งคำถามถึงการแสดง “เจตนาดี” ของรุ่นพี่ที่มีต่อรุ่นน้องว่าอาจไม่ตอบสนองความต้องการในการค้นหาตัวตนของชีวิตสำหรับคนที่อยู่ในวัยเปลี่ยนสถานะเข้าสู่การเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และอาจไม่ต่างจากการแสดงเจตนาดีของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ส่วนการรับน้องที่บอกว่าสร้างความอดทนนั้นเป็นความอดทนลักษณะใด นอกจากนั้นความรักพวกพ้อง ที่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ในระบบอุปถัมภ์ของรุ่นน้องรุ่นพี่รุ่นน้องในสถาบันเดียวกัน อาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ทีได้รับ แต่ในฐานะพลเมืองของสังคมซึ่งไม่ใช่นักศึกษาของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ระบบตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความ แตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย
วันรัก กล่าวด้วยว่า ขณะที่บุคคลที่สร้างความจดจำ ชื่นชม ในประวัติศาสตร์วรรณคดีหรือศิลปะ มักเป็นคนที่ความแตกต่าง ยกตัวอย่างเช่น แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh) ที่ท้าทายจารีตบางอย่างของขนบของงานศิลปะและค้นหาตัวเอง แต่ระบบโซตัสมีกระบวนการที่ต้องการทำให้ทุกคนเหมือนๆ กัน ไม่มีที่ยืนให้กับคนที่แตกต่าง ที่ถูกเรียกว่าเพี้ยน และคนเหล่านี้ก็จะถูกผลักให้ออกจากกลุ่ม
การรับน้อง ประเพณี และภาระหน้าที่ต่อสังคม
“ความจริงระบบซีเนียริตี้ (Seniority) นี้ดี แต่ความดีมันก็ต้องมีกาลเทศะ หมายความว่าคนที่จะใช้ก็ต้องรู้จักเทคนิคพอสมควร คุณค่าของความดีไม่มีสูญไม่มีหาย แต่ความดีจะสูญหายไปได้เพราะคนที่จะเอาความดีมาใช้ ยังไม่รู้จักเลยว่าความดีนั้น คืออะไร” หนึ่งในประโยคเด็ดของนายทองปน บางระจัน ตัวละครจากหนังสือ 'หนุ่มหน่ายคัมภีร์' เขียนโดย สุจิตต์ วงศ์เทศ ซึ่งพิชญ์นำมากล่าวถึง
พิชญ์ เล่าต่อมาถึงประสบการณ์จากรั้วมหาวิทยาลัยว่า มหาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเมืองเบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพมาก มีพื้นที่ลานบริเวณหน้าตึกกิจกรรมนักศึกษามีหมุดเล็กๆ เขียนเอาไว้ว่า “พื้นที่นี้ และอากาศเหนือพื้นที่นี้ขึ้นไป จะไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐใด” เพราะในปี 1964-1965 มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอเมริกา โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่เคลื่อนไหวจนกระทั่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาและเสรีภาพในทางวิชาการได้เกิดขึ้น
แม้ว่าอเมริกามีมหาวิทยาลัยมานานมากแล้ว แต่มีการห้ามไม่ให้แสดงความเห็นทางการเมืองในมหาวิทยาลัย ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็นอื่นนอกจากความรู้ จนกระทั้ง มีการเคลื่อนไหวใหญ่ที่เบิร์กลีย์ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการล้มสงคามเวียดนามในหลังจากนั้น เริ่มต้นจากการตั้งคำถามของนักศึกษาวิทยาศาสตร์ ที่ทำงานวิจัยในฐานะแรงงานราคาถูกให้กับรัฐบาลว่าทำไมพวกเขาต้องทำงานวิจัยเพื่อผลิตอาวุธไปฆ่าคน และมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มตั้งคำถามว่าจะสามารถนำปัญหาภายนอกมหาวิทยาลัยมาคุยในมหาวิทยาลัยได้ไหม เพราะช่วงนั้นเริ่มมีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของคนจน คนผิวดำต่างๆ
ในส่วนของประเทศไทย จากข้อมูลปีล่าสุดนี้ งบประมาณแผ่นดิน 7.2 หมื่นล้าน ถูกส่งให้มหาวิทยาลัย คิดเป็นอัตราเฉลี่ยงบประมาณการศึกษาสำหรับบัณฑิตในระดับอุดมศึกษากว่า 40,000 บาทต่อปี สำหรับนักศึกษาหนึ่งคน ดังนั้น หากจะพูดถึงระบบประเพณีต่างๆ คงหนีภาระหน้าที่ที่จะต้องมีต่อสังคมไปไม่ได้ เพราะว่าทุกคนกินภาษีของประชาชนอยู่ เรื่องนี้เป็นเรืองที่สำคัญ ไม่ว่าจะบอกว่าระบบอุปถัมภ์ดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่จะต้องพูดเสมอคือมันเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของคนอื่น เมื่อรัฐจะต้องเอาเงินก้อนนี้มาให้กับนักศึกษาแต่ที่จะนำไปใช้ในส่วนอื่น ดังนั้นจึงเป็นพันธะกิจสำคัญซึ่งไม่ต้องมาพูดถึงอุดมการณ์ แต่มันเป็นความจริงที่ต้องรู้ ทั้งนี้ยังไม่รวมความคิดที่ว่าเรียนจบแล้วต้องไปทำงานรับใช้คนอื่นหรือไม่
โซตัสในยุคทุนนิยม เมื่อเราต้องรักกันเพื่อความอยู่รอด
พิชญ์ กล่าวถึงระบบโซตัสว่า มีวิธีอธิบายแบ่งเป็น 3 แบบ คำอธิบางแรกที่คนชอบใช้กันคือ โซตัสเป็นหน้าฉากหนึ่งของระบบเผด็จการ ส่วนคำอธิบายของเขาคือ ระบบโซตัสมีเหตุผลทางเศรษฐกิจรองรับ หมายความว่าประเพณีนี้ไม่ได้เป็นประเพณีที่อธิบายโดยตัวเองว่าดีมาตั้งแต่โบราณ แต่เป็นของใหม่ ดังนั้นคนที่รับรู้และสืบสานประเพณีเหล่านี้จึงมีวิธีคิดที่เรียกว่า “คำนวณแล้วว่าคุ้มค่า” (Calculative mind) ระบบอุปถัมภ์จึงดำรงอยู่ ตัวอย่างเช่นยอมให้พี่ 1 ปี แล้วได้รับน้องอีกอย่างน้อย 3 ปี และในความเป็นจริงการรับน้องในปัจจุบันไม่ได้โหดร้าย แต่จะออกมาในแนวขำขัน สนุกสนาน โดยเป็นการเอากิจกรรมเหล่านี้เข้าไปสวมระบบประเพณีเก่า ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในโครงสร้างเช่นนี้เพราะรุ่นพี่ต้องการสร้างความยอมรับจากรุ่นน้อง
“ทฤษฎีของผมคือในยุคทุนนิยม ประเพณีนี้จะยิ่งสืบสานเพราะว่าการแข่งขันในตลาดแรงงานมีสูง ยิ่งเป็นอย่างนี้มันยิ่งมีเหตุผลที่รุ่นพี่รุ่นน้องจะต้องรักกันมากขึ้น” พิชญ์กล่าว และย้ำว่าตรงนี้เป็นการคาดคำนวณในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจที่รองรับให้ต้องมีระบบนี้อยู่
พิชญ์ แสดงทัศนะด้วยว่า ระบบโซตัสไม่ใช่เรื่องของคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อย แต่เป็นการครอบงำทางความคิดตามภาษาทางสังคมศาสตร์ที่ต้องทำทุกวัน ต้องหาเหตุผลให้มันทุกวัน และการที่เราถูกครอบงำได้ไม่ใช่ว่าเรามีความสุขกับระบบนี้แต่มันทำให้เราคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ ดังนั้น คนที่อยู่ในระบบนี้ไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ส่วนน้อย เพราะไม่มีใครที่ชอบระบบนี้มากๆ ทุกคนจะเชื่อว่าเราน่าจะไปปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้ แต่ก็ไม่มีคนที่สามารถจะบอกว่าระบบนี้ไม่มีไม่ได้หรือ ทุกคนพยายามหาเหตุผลที่ดี เพื่อที่จะทำให้ส่วนที่ดีของมันอยู่ต่อไป
ผู้ปกครองไม่สามารถปกครอง เหตุผลที่ทำให้โซตัสดำรงอยู่ได้
พิชญ์ กล่าวต่อมาว่า การที่ระบบโซตัสดำรงอยู่ได้เพราะเป็นระบบอาณานิคมที่ผู้ปกครองไม่สามารถปกครองคนได้ทั้งหมด จึงต้องมีการปกครองโดยใช้ระบบซุ้ม ระบบเลี้ยงนักเลงเพื่อควบคุมคน เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่สามารถในการระดมนักศึกษามาทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยได้ นี่คือโครงสร้างส่วนบนที่มองไม่เห็นของระบบอุปถัมภ์ชุดนี้ทั้งหมดของระบบโซตัส แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเรียกได้ว่าเป็นพิธีกรรม แต่อีกส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยไทยอิงกับการสอน การวิจัย และพิธีกรรม ซึ่งพิธีกรรมคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงมหาวิทยาลัยเอาไว้ ทำให้มหาวิทยาลัยมีเงินจากศิษย์เก่า ได้รับการยอมรับจากตลาดแรงงานโดยศิษย์เก่าที่จบออกไปให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ การจะทำให้ประเพณีเหล่านี้อยู่ได้จะต้องมีมวลชนรองรับ
“การที่ผู้บริหารปล่อยให้ระบบนี้อยู่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริหารไม่สามารถดูแลนิสิต นักศึกษาได้ทั้งหมด และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือจำเป็นจะต้องมีเอาไว้จึงหลับตาข้างหนึ่งเหมือนกับตำรวจเลี้ยงนักเลง” อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครองกล่าว
แนะหากระบบมีปัญหา ให้ฟ้องกรรมการสิทธิ์ฯ
พิชญ์ นำเสนถึงทางออกว่า 1.หากคิดว่าระบบโซตัสมีปัญหา ให้ฟ้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2.ส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสา จิตสาธารณะ หรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งหากคิดในแง่ที่สัมพันธ์กับการเมืองตรงนี้จะช่วยให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพสูงขึ้น เพราะการเลือกตั้งในสายปรัชญาการเมืองบางสายไม่ได้ทำให้สังคมดีที่สุด แม้ว่าจะเป็นเสียงข้างมาก แต่หากเป็นเสียงข้างมากที่เห็นแก่ตัวก็อาจรับแต่ผลประโยชน์ในระยะสั้น ซึ่งการทำกิจกรรมจิตอาสาจะพัฒนาการเลือกตั้งให้ดีขึ้นได้ โดยทำให้นักศึกษาหรือคนทั่วไปหันไปช่วยคนอื่นๆ เมื่อจะต้องตัดสินใจในเรื่องสาธารณะก็จะสัมพันธ์กับคนอื่นได้มากขึ้น ทำให้การหาผลประโยชน์เข้าตัวก็จะคำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอื่นมากขึ้น
3.ผู้บริหารสถานศึกษาต้องหากิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้รุ่นพี่ได้รับการยอมรับจากรุ่นน้อง โดยไม่ใช่การใช้กำลังบังคับ แต่ให้รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ด้วยผลงาน และ 4.การรับน้องแบบเผด็จการควรเป็นการกระทำโดยสมัครใจที่ทำนอกมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทำในมหาวิทยาลัยแล้วพยายามหาเหตุผลรองรับ
“คำ ผกา” ตั้งคำถามถึงน้องใหม่ ทำไมต้องยอมจำนน
คำ ผกา กล่าวถึงประสบการณ์การเป็นน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า เธอไม่ผ่านการรับน้อง ไม่เคยเข้าห้องว้าก ไม่ร่วมประเพณีวิ่งขึ้นดอยของมหาวิทยาลัย รวมทั้งร้องเพลงเชียร์ของคณะและเพลงมหาวิทยาลัยไม่ได้แม้แต่เพลงเดียว แต่การที่ไม่ร่วมกิจกรรมเหล่านี้ขณะที่เพื่อเข้าร่วมไม่ได้ส่งผลให้ใครมาทำอะไรเธอได้ ทำให้รู้สึกแปลกใจว่าทำไมการรับน้องในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งกลายเป็นสิ่งที่รุ่นน้องยอมจำนน ส่วนข้ออ้างเรื่องการไม่ได้รุ่นนั้นเธอไม่สนใจ ไม่แคร์รุ่นพี่ คิดว่าไม่เอารุ่นก็ได้เพราะรู้สึกว่าตัวเองแกร่งพอที่จะไม่พึ่งพาระบบอุปถัมภ์แบบนั้น
“คุณไม่มันใจในศักยภาพของตัวคุณเอง ว่าคุณสามารถเติมโตในการทำงาน หรือสมัครงาน หรือไปทำอะไรก็ได้ในชีวิตนี้หลังจากเรียนจบโดยไม่ต้องพึ่งพารุ่นพี่” คำ ผกา กล่าวถึงเหตุผลที่คนไม่กล้าปฏิเสธระบบว้ากหรือการรับน้อง และกล่าวต่อมาถึงประเพณีแบบ Public school ที่มีเรื่องชนชั้นมากำหนด ซึ่งจะเกี่ยวพันธ์กับการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ในอนาคต ว่าอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง
คำ ผกา กล่าวต่อมาว่า นอกเหลือจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ทางการเมืองแล้ว คำพูดหรืออุดมการณ์ที่อยู่ในการรับน้อง ซึ่งรับมาจากระบบของต่างประเทศเมื่อเขามาในเมืองไทยได้มาผสมผสานกับวิธีคิดทางการเมือง วิธีคิดทางอำนาจแบบไทยๆ และคำอธิบายเรื่องการรักพวกพ้อง เรื่องรุ่น เรื่องการรักสถาบัน แล้วพยายามสลายพฤติกรรมของคนหมู่มาก โดยทำลายการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นที่สั่งสมมาก่อนหน้านี้ ด้วยพิธีพิธีกรรมการรับน้องในมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนจากสถานที่ที่ทำให้คนมีปัญญามากขึ้น กลายเป็นสถานที่ที่จะทำให้คนที่เข้ามาอยู่มีปัญญาน้อยลง นอกเหนือจากการเรียนเพื่อฝึกทักษะทางอาชีพซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
มหาวิทยาลัยทำให้คนตั้งคำถามและท้าทายต่ออำนาจได้น้อยลง และรักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบผู้น้อยผู้ใหญ่เอาไว้มากที่สุด เพราะฉะนั้นการนับถือรุ่นพี่ก็จะนับถือแค่ว่าอยู่ปีสูงกว่า อายุมากกว่า แต่ไม่ได้ดูว่ารุ่นพี่มีผลงานอะไรให้น่านับถือบ้าง
นอกจากยังมีปมด้อยเรื่องศักดิ์ศรีด้วย จากที่จะเห็นว่าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ฯลฯ พัฒนาการว้ากให้เป็นเรื่องขำมากขึ้น แต่มหาวิทยาลัยเล็กๆ หรือมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ซึ่งไม่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานก็ใช้การรับน้องมาสร้างความภาคภูมิใจให้กับสถาบัน ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่อง “วิกฤติทางอัตลักษณ์” คือมหาวิทยาลัยยิ่งเล็กการรับน้องก็จะยิ่งโหด
“ไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหาอะไรได้ นอกจากเด็กปีหนึ่งทุกคนจะต้องปฏิเสธระบบนั้นด้วยตัวเอง” คำ ผกา กล่าว แต่คำถามของเธอก็คือขณะนี้ยังเห็นเด็กปีหนึ่งทุกคนใส่ป้ายและมีซีเรียลนัมเบอร์เหมือนเป็นสัตว์ในฟาร์ม แล้วก็มีความสุข มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้
“ทำไมเด็กปีหนึ่ง ไม่สามารถออกจากระบบนี้ได้ด้วยตนเอง หรือว่ายังเอ็นจอยความสัมพันธ์แบบซาดิสม์ มาโซคิสม์ กันอยู่แบบนี้” คำ ผกา ตั้งคำถาม
คำ ผกา กล่าวต่อมาว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนคือต้องเปลี่ยนอุดมการณ์ของสังคมทั้งหมดว่าความภาคภูมิใจ ศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ที่ความยิ่งใหญ่ของสถาบันในเชิงพิธีกรรม แต่อยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยมีคนได้รางวัลโนเบลกี่คน มหาวิทยาลัยมีศิษย์เก่าไปแสดงนิทรรศการ และได้รับการยอมรับในระดับโลกอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการยกเลิกการใส่เครื่องนักศึกษา เพราะการจำนนต่อเครื่องแบบนักศึกษาเป็นสัญลักษณ์ของการจำนนต่ออำนาจตั้งแต่แรกแล้ว
“การรับน้อง การว้ากจะไม่เปลี่ยนไปเลย ตราบใดที่มหาวิทยาลัยไทยยังให้นักศึกษาแต่เครื่องแบบ” คำ ผกา กล่าว และเสริมว่า การไปให้ความสำคัญกับเข็ม หรือหัวเข็มขัด คือการไม่ย้ายศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจออกมาจากประวัติศาสตร์ จากพิธีกรรมไปสู่ผลงาน หรือเนื้อหา
คำ ผกา กล่าวด้วยว่า การรับน้องที่ยังตกค้างอยู่ในมหาวิทยาลัยไทย สอดคล้องกับภาวะความกลัวต่อความเป็นประชาธิปไตยในสังคม เพราะว่าสังคมที่กลัวการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องการประชาชนที่เชื่อฟังและรักในประเพณี โดยไม่สนใจว่าประเพณีนั้นจะมีเนื้อหาที่เหมาสมกับยุคสมัยหรือไม่ และต้องการเน้นความรักในสังกัดของตนเอง รักในรุ่นพี่ รักคณะ รักมหาวิทยาลัย ซึ่งสังกัดที่ใหญ่ขึ้นคือการรักชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา เน้นความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ตราบใดที่เรายังปล่อยให้วัฒนธรรมและอุดมการณ์ที่ยังอยู่ในการว้าก การรับน้องดำเนินต่อไปโดยไม่สิ้นสุด มันก็จะเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงสภาวะของความไม่เป็นประชาธิปไตยไทยต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
No comments:
Post a Comment