เสวนา "เล่า ลอก พิมพ์ โหลด : การเดินทางอันยาวนานของกิจกรรมการอ่าน"


"ตัวอักษรเป็นสิ่งสะท้อนเวลาว่าง" 

"การอ่านบนอินเตอร์เน็ต คือประชาธิปไตย"  

"เราเป็นสิ่งที่เราอ่าน"

 หรือ "โชคดีที่สังคมเรา ผู้มีอำนาจไม่อ่านหนังสือ"


      และอีกหลากหลายถ้อยคำจากการคุยกันของ 3 นักคิดนักเขียน: ภาณุ ตรัยเวช, วันรัก สุวรรณวัฒนา และบรรณาธิการซีไรต์หนังสือ "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" กิตติพล สรัคคานนท์ ในหัวข้อเสวนา "มุขปาฐะ คัดลอก การพิมพ์ การโหลด : เหลียวมองการเดินทางอันยาวนานของกิจกรรมการอ่าน"  ซึ่งจัดโดย เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับ สยามอินเทลลิเจนซ์  ณ ร้านหนังสือก็องดิด สี่แยกคอกวัว

และนี่คือส่วนหนึ่งที่เราเก็บตกมาจากการเสวนาแบบกันเองๆ ในบ่ายวันอาทิตย์
(5 มิ.ย.) ที่ผ่านมา



"เราได้เข้ามาสู่ยุคแห่งอุดมคติของการอ่านรึเปล่า" -กิตติพล สรัคคานนท์


กิตติพลชวนคุยถึงประวัติศาสตร์ของการอ่านว่า เราอาจแบ่งวัฒนธรรมการอ่านคร่าวๆออกเป็น 4 ยุคด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ยุคมุขปาฐะ ซึ่งเป็นยุคที่ถ้อยคำถูกสื่อสารผ่านการจำและการเล่าปากต่อปาก อีกทั้งถ้อยคำเหล่านี้ก็มักจะคลาดเคลื่อนไปตามแต่ผู้เล่า ยุคต่อมาคือยุคแห่งการคัดลอก  ซึ่งได้ครอบครองพื้นที่ของการอ่านและการฟังมาก่อนที่วัฒนธรรมการพิมพ์จะเริ่มต้น เฉกเช่นเดียวกับ "ตัวบท" ที่ปรากฏอยู่บนจอคอมพิวเตอร์หรือบน "แท็บเล็ต" ในปัจจุบัน ซึ่งก็ไดัเคยถูกบรรจุอยู่ในม้วนกระดาษมาก่อน  

ต่อมาคือ ยุคแห่งการพิมพ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 14 ก่อนจะกลายมาเป็นอุตสาหกรรมหนังสือและตลาดหนังสือในปัจจุบันที่มีทั้งคนขายและตัวแทนจำหน่ายหนังสือ และสิ่งที่สำคัญคือ "หนังสือจะไปไม่ถึงมือนักอ่านคนไหนเลยหากปราศจากผู้จำหน่าย และการได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจ" ในยุคที่สี่คือยุคดิจิตอล ซึ่งผู้เขียนและผู้พิมพ์เป็นคนๆเดียวกัน  และนี่จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า "เราได้เข้ามาสู่ยุคของอุดมคติแห่งตัวอักษรรึเปล่า" เพราะเราได้มาถึงยุคที่เราสามารถสร้าง เผยแพร่ กำหนด หรือค้นหาผู้อ่านเองได้




"ในการอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่ม เราจะมีช่วงเวลาของการคิดคำนึง" -วันรัก สุวรรณวัฒนา


 "ยุคดิจิตอลที่คุณบอกว่าคนอ่านหนังสือน้อยลงนั้นจริงหรือ?" วันรักตั้งคำถาม ก่อนจะกล่าวต่อไปว่า จริงๆแล้ว รูปแบบการอ่านในประวัติศาสตร์มีหลากหลาย เช่นในสมัยโบราณมีมุขปาฐะ การอ่านออกเสียง กระทั่งมาถึงยุคของการอ่านเงียบ หรือการอ่านในใจของคนในยุคปัจจุบัน ดังนั้น การกำหนดว่าอะไรคือการอ่านหรืออะไรที่ไม่ควรถูกนับว่าเป็นการอ่านนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร สุดท้ายแล้ว การพูดว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัดนั้น แปลได้ไหมว่า การอ่านของคุณอาจไม่ได้เป็นอ่านตามขนบ คุณไม่ได้อ่าน "แบบทางการ" หรือเปล่า เราจะนับการอ่านเว็บไซต์ อ่านบล็อก หรือแม้กระทั่งการอ่านสเตตัสบนเฟสบุ๊กว่าเป็นการอ่านรึเปล่า

อีกประเด็นหนึ่งคือ หนังสือรูปแบบต่างๆไม่ได้เป็นแค่ "สื่อ" เท่านั้น หากแต่ตัวมันเองก็เป็น "สาร" (message) ด้วย เนื่องจาก"รูปแบบ"มีส่วนกำหนดกระบวนการคิดในระหว่างนั้น (thinking in process) ของเรา เธอกล่าวต่อไปว่า "ในการอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่ม เราจะมีช่วงเวลาของการคิดคำนึง แต่ในโลกแห่งอินเตอร์เน็ตที่มีข้อมูลถาโถม มันทำให้เราเสียสมาธิ หรือมีเวลาให้กับการใคร่ครวญน้อยลง" ปัจจุบันนี้มนุษย์ถูกกำหนดให้ต้องทำหลายกิจกรรมในเวลาเดียวกัน และแต่ละกิจกรรมนั้นก็เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้น้อย เราถูกกระตุ้นให้มีปฏิสัมพันธ์กับมันตลอดเวลา คำถามที่สำคัญคือ สิ่งนี้มันทำไปสู่ความคิดที่เปลี่ยนไปอย่างไร

วันรักย้อนกลับมาพูดถึงยุคแรกเริ่มของการส่งผ่านถ้อยคำ ซึ่งเป็นยุคแห่งมุขปาฐะว่า ในยุคนั้น การส่งผ่านความคิดหรือถ้อยคำเป็นพื้นที่ของสาธารณะ การฟังมุขปาฐะในสมัยก่อนไม่เหมือนกับการที่คนดูละครสมัยนี้ เมื่อก่อน คนฟังจะมีส่วนร่วมด้วย คนฟังจะด่า โห่ร้อง หรือเสนอความเห็น  ในสมัยนั้นความรู้ไม่ใช่เรื่องของคนๆเดียว แต่ว่าพอมาถึงยุคของการอ่านซึ่งเกิดขึ้นภายในหัวของเราเอง หรือ "การอ่านที่เดียวดาย" การอ่านได้กลายมาเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่นับจากการมาถึงของยุคดิจิตอล ซึ่งมีการแชร์ข้อมูล มีการ "เม้นท์"  การ"ไลค์" ฯลฯ เหล่านี้ก็เหมือนกับการที่เรากลับไปสู่ยุคซึ่งกิจกรรมการอ่านเป็นกิจกรรมทางสังคมเช่นเดียวกับในยุคมุขปาฐะหรือเปล่า



"ผ้าคลุมล่องหน"กับอัตลักษณ์บนอินเตอร์เน็ต  -ภาณุ ตรัยเวช


ภาณุกล่าวว่า เมื่อก่อนที่ยังไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเฟสบุ๊ค คนใช้อินเตอร์เน็ตจะเข้าไปในเว็บบอร์ด และการที่เราเข้าไปในเว็บบอร์ดนี้ทำให้เรารู้สึกว่ามี "Cloak of Invisibility" หรือ "ผ้าคลุมล่องหน" เราจะทำตัวนิรนาม เราจะใช้ชื่อปลอมในเว็บบอร์ด และเราจะทำตัว "เกรียน" ยังไงก็ได้

แต่พอมาในยุคของเฟสบุ๊ค ไม่มีใครที่ล่องหนจริงๆบนเฟสบุ๊คอีกแล้ว เพราะเว็บไซต์อย่างเฟสบุ๊คอนุญาตเราสืบสาวไปถึงเจ้าของโพสต์ต่างๆได้ง่าย ฉะนั้นจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วอัตลักษณ์คืออะไร เคยมีนักปรัชญาคนหนึ่งกล่าวว่า "การแสดงออกของคุณนั้นแหละ คือสิ่งที่กำหนดอัตลักษณ์ของคุณเองขึ้นมา" ดังนั้นเราจะพูดได้ไหมว่าในยุคอินเตอร์เน็ต การที่เราไปเขียนสเตตัส ไปโพสต์ข้อมูล หรือการที่เราเข้าไปอ่านหรือไปเขียนคอมเมนท์บนสเตตัสคนอื่นของคนอื่นนั่นแหละ คือการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเราเอง


ชวนฟังนักอ่านคุยกัน...

กิตติพล สรัคคานนท์                                                             




วันรัก สุวรรณวัฒนา






เผยแพร่ในเวปมติชนออนไลน์ วันที่ 7 มิถุนายน 2554 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1307357742&grpid=01&catid=&subcatid=

No comments:

Post a Comment

Travel Writings on Indochina

I've been collecting a collection of travel writings on Indochina at the fin de siècle: Morice Docteur, 'Voyage en Cochinchine',...