"LANDS’ END" review : “อวสานแห่งปฐพี” หรือการเดินทางในความพร่ามัวของภาพฝัน

Review การแสดง Contemporary Dance ของคณะ Phillipe Genty

เมื่อวันพุธที่ 4 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมาได้มีพิธีเปิดเทศกาล “La Fête”* ซึ่งเป็นเทศกาลเผยแพร่วัฒนธรรมร่วมสมัยของประเทศฝรั่งเศสที่จัดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปีแล้ว ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ด้วยการแสดงปฐมฤกษ์ชื่อ “อวสานแห่งปฐพี” ของคณะละคร Phillipe Genty ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างทล่มทลาย ผู้ชมทั้งชาวไทยและเทศต่างปรบมือกันอย่างเกรียวกราว

“อวสานแห่งปฐพี”เป็นการแสดงที่ยากต่อการให้คำจำกัดความสั้นๆ เพราะผสมผสานศิลปะหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์แห่งการละคร นาฎศิลป์ ดนตรี ละครใบ้ หรือหุ่นกระบอก แม้แต่ศาสตร์แห่งการใช้“แสง”ก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในกระบวนการสื่อความหมายของการแสดงชุดนี้

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นด้วยการปรากฎตัวของตัวตลกในขนบของละครใบ้ คละเคล้ากับเสียงดนตรีที่ทำให้เรานึกถึงเสียงที่คุ้นหูทันที นั่นก็คือเสียงของเข็มนาฬิกา เสมือนเป็นการเชื้อเชิญให้เราเข้าสู่ดินแดนของ “ความเป็นไปได้” คล้ายกับการเดินทางของ Alice สู่ดินแดน Wonderland ที่เริ่มต้นด้วยกระต่ายพูดได้ที่หยิบนาฬิกาออกมาดูเวลา

“เสียงของเวลา” ในขณะที่นำเราเข้าสู่ดินแดนที่ไร้พรมแดน ยังดึงภาพของความซ้ำซากจำเจของชีวิตคนออกมาปรากฎบนเวทีด้วย โต๊ทำงานที่เต็มไปด้วยเอกสารกับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งถูกจัดให้นั่งอยู่ทางขวาของเวทีเป็นภาพที่สะท้อนตรรกะการใช้ชีวิตของมนุษย์เงินเดือนในโลกยุคโมเดริ์น ในขณะที่กลางเวทีเราเห็นชายหญิงคู่หนึ่งในชุดคล้ายกับหมอหรืออาจเป็นนักวิทยาศาสตร์กำลังสังเกตุ “การเกิด” ของหญิงสาวคนหนึ่งที่ออกมาจากห่อพลาสติกหลายชั้นที่ห่อหุ้มตัวเธออยู่ เป็นฉากที่ทำให้คนดูประหลาดใจได้อย่างมาก เพราะสงสัยว่าหญิงสาวคนนั้นเข้าไปอยู่ในห่อพลาสติกได้อย่างไร เนื่องจากในตอนแรกห่อพลาสติกนั้นดูเหมือนว่าไม่มีอะไรอยู่ด้านใน

แล้วก็เกิดเสียงยิงปืนดัง“ปัง”โดยตัวตลกละครใบ้ ที่เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ ในเวลาเดียวกันก็เป็นเสียง”กระตุก”จิตใต้สำนึกของผู้ชม บอกถึงจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการเดินทางเข้าสู่โลกของความฝัน
การเดินทางครั้งนี้ถูกสะท้อนบนเวทีด้วยการออกเดินทางจริงๆของตัวละครชาย จาก”พนักงานเอกสาร”เขาได้กลายมาเป็น“นักเดินทาง”ด้วยการสวมเสื้อกันฝน ใส่หมวก bowler (คนยุโรปนิยมใส่กันช่วงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้น 20) ถือกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ในมือหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งถือกระดาษใบหนึ่ง ที่อาจเป็นทั้งจดหมาย แผนที่ หรือลายแทงขุมทรัพย์ก็ได้

ณ วินาทีนั้น ปรากฏบนเวทีและในความทรงจำส่วนลึกของผู้ชม โลกของจิตรกรแนวอภิสัจนิยม (surrealism) ชาวเบลเยี่ยม René Magritte (1898-1967) ที่วาดภาพผู้ชาย โดยมีผลไม้หรือนกปิดใบหน้า เช่นภาพ The Son of Man หรือ Man in the Bowler Hat




ในเบื้องลึกของภาพฝัน : จินตนาการ ความหวาดกลัวและแฟนตาซีเซ็กซ์

ฉากต่างๆที่เกิดบนเวทีหลังจากนั้นเหมือนเป็นภาพต่อเนื่องที่หลากหลายของจิต(ใต้)สำนึกที่ถูกเรียงร้อยทับซ้อนสลับกันไปมา ไม่มีระเบียบ ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่อยู่บนตรรกะของโลกภายนอกที่จับต้องได้ ภาพเหล่านี้ไม่ได้่เป็นภาพของนักเดินทางเท่านั้นแต่เป็นของเราทุกคน และกระดาษลึกลับใบนั้นเองที่อยู่ในมือของนักเดินทางจะทำหน้าที่เหมือนแผนที่ที่ว่างเปล่าที่จะนำทางเราเข้าสู่เส้นทางที่พร่ามัวเส้นนี้

แต่ละภาพจะมีรสชาติ สำเนียงและสีสันที่หลากหลายต่างกันไป รสชาติที่หลากหลายถูกถ่ายทอดออกมาในทั้งในฉากที่ตื่นแต้นเร้าใจสนุกสนาน เช่นฉากเพลงจังหวะร็อกแอนด์โรล ฉากที่อ่อนหวาน นุ่มนวลและโรแมนติกซึ่งจะมีการเต้นที่มีพื้นฐานจากบัลเลย์เป็นหลัก ทั้งตลกขบขันก็มีหลายฉาก โดยหลักๆใช้เทคนิคของละครใบ้และตัวตลกสไตล์ละครสัตว์ ทั้งน่าอัศจรรย์ดั่งการดูโชว์มายากลแบบ illusion สไตล์ David Copperfield ผู้ชมถึงกับฉงนสนเท่ห์กับการปรากฎตัวและหายไปของตัวละครและสิ่งของต่างๆโดยไร้ร่องรอยแทบจะในทุกฉาก ทั้งรุนแรงและเร่าร้อน เช่นฉากเซ็กซ์ระหว่างนักเดินทางและหญิงสาวที่ดูเผินๆเหมือนกับฉากเต้นสนุกสนานเสียมากกว่า หรือการ“ตอน”เพศชายในฉากร็อกแอนด์โรล ที่แม้จะอยู่ในรูปของ“งู” ก็มีนัยยะของความรุนแรงอยู่ในการกระทำนั้น ทั้งน่าสยดสยองชวนให้ขนลุก โดยเฉพาะฉากแมลงที่นัวเนียพัวพัน ต่อสู้ หรือบางทีก็เต้นรำกับหญิงสาวที่ในท้ายสุดกลายเป็นเหยื่อของแมลง ด้วยการถูกแมลงปล่อยใยพันรอบตัว ฉากนี้เล่นเอาผู้ชมทั้งหลายขนลุกซู่ กลั้นหายใจและเบือนหน้าหนีไปตามๆกัน ส่วนสำเนียงและสีสันอยู่ที่ความสามารถในการเลือกใช้ดนตรีและการใช้แสงที่โดดเด่นและเกื้อหนุนอารมณ์ของแต่ละฉากได้ดี ความสามารถในการผสมผสานทุกอย่างเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันและออกมาเป็นการแสดงที่น่าอัศจรรย์ได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะความสามารถของนักเต้นเท่านั้น แต่ต้องยกให้องค์ความรู้ที่พัฒนาไปไกลในเรื่องของศิลปะการใช้แสง ดนตรีและฉาก

อย่างไรก็ตาม รสชาติ สำเนียงและสีสันเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำเสนอในแง่มุมที่ชัดเจน ไม่ได้เป็นเรื่องเล่าที่มีขั้นตอนการเล่าที่เป็นเส้นตรง ง่ายต่อการเข้าใจ เพราะทุกคนที่ออกมาจากชมการแสดงชุดนี้ แม้จะเห็นพ้องกันเป็นเสียงเดียวกันว่าดีมาก แต่ความไม่เข้าใจและสับสนกลับเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับ แต่เมื่อลองมองดูให้ดีแล้ว ความเข้าใจไม่เข้าใจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากแต่อารมณ์ ความรู้สึกที่ได้รับจากการชมนี้ต่างหากที่สำคัญกว่า

ความไร้ระเบียบไร้เหตุผลของอารมณ์ที่เกิดขึ้นในตัวผู้ชมนี้เอง จริงๆแล้วเป็นผลโดยตรงจากลักษณะงูหางด้วนนกหัวขาดที่อยู่ภายในแต่ละฉากและจากความไร้ตรรกะของการปะติดปะต่อภาพฝันต่างๆเข้าด้วยกัน
เมื่อมองให้ถึงที่สุด จึงชัดเจนว่าตรรกะของการแสดงชุดนี้ไม่ได้อยู่ที่ความชัดเจน อ่านออก ตีความได้ แต่อยู่ที่คุณลักษณะ“พร่ามัว”ที่เป็นหัวใจของมันต่างหาก ความพร่ามัวนี้เองจริงๆแล้วก็เป็นลักษณะสำคัญของสิ่งที่เราเรียกว่า “ชุดภาพฝัน” ในความหมายกว้างที่สุดของคำนี้ เพราะชุดภาพฝันอาจเป็นทั้งสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยเกิดขึ้นและสิ่งที่เราอยากหรือไม่อยากให้เกิดขึ้น หรืออาจเป็น“ภาพ”ชุดต่างๆที่ผ่านเข้ามาในความทรงจำ ในจินตนาการหรือในแฟนตาซีของเรา ยามหลับหรือยามตื่น จะรู้ (สำนึก) หรือไม่รู้ตัว (ใต้สำนึก) ก็ตาม ในปริมณฑลของ “ชุดภาพฝัน” นี้จึงมีทั้งความฝัน (dream) ความวิตกจริต (anxiety) ความหวาดกลัว (fear) และแฟนตาซีเซ็กซ์ (sex fantasy) ที่เราทุกๆคนเคยเผชิญหน้ากับมันมาแล้ว

สุุดท้ายแล้วสิ่งที่การแสดงนี้หยิบยื่นให้กับเรา ไม่ใช่“สิ่งที่เราเห็น”ดาษดื่น ไร้เสน่ห์ หากแต่เป็นความขัดแย้งระหว่าง“สิ่งที่เราเห็น”ซึ่งอยู่ตรงนั้น(ในที่นี้คือภาพต่างๆที่ปรากฏบนเวที) กับ“สิ่งที่สามารถเห็นได้”ที่แอบซ่อนอยู่ข้างหลังหรืออยู่อีกด้านของ“สิ่งที่เราเห็น”ต่างหาก (อาจกล่าวได้ว่า คือภาพพร่ามัวที่ไร้ระเบียบของชุดภาพฝัน) ดังที่ René Magritte กล่าวไว้ว่า
“ทุกอย่างที่เราเห็นซ่อนสิ่งอื่่นไว้ เรามักจะอยากเห็นสิ่งที่ถูกซ่อนไว้ใต้สิ่งที่เรามองเห็น ความน่าสนใจอยู่ตรงสิ่งที่ถูกซ่อนไว้และตรงสิ่งที่ไม่ได้แสดงออกมาให้เราเห็น ผ่านสิ่งซึ่งเราสามารถมองเห็นได้ ความน่าสนใจนี้อาจแสดงออกมาในรูปของอารมณ์ที่เข้มข้น ในรูปของความขัดแย้งแบบใดแบบหนึ่ง เราอาจพูดได้ว่า (เป็นความขัดแย้ง) ของสิ่งที่เรามองเห็นได้ที่ถูกปิดบังอยู่กับสิ่งที่เรามองเห็นได้ที่ชัดเจนอยู่ตรงนั้น”



เก้าอี้ที่นั่งไม่สบายของ“ผู้ชม”

หากสิ่งที่โชว์บนเวทีคือชุดภาพต่อเนื่องที่พร่ามัวจนไม่สามารถมองเห็นชัดเจนได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในตัวของผู้ชมก็ไม่ได้ชัดเจนไปกว่ากันเลย หากแต่เป็นความรู้สึกอึดอัดและรบกวนใจ เราไม่ได้ถูกนำเข้าไปใส่ในตำแหน่งของ“ผู้ชม”ที่นั่งสบายอยู่ในเก้าอี้นวมนุ่มๆเหมือนกับการชมการแสดงทั่วไปที่เราคุ้นเคย แต่ถูกทำให้รู้สึกกระวนกระวายกับคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ กับความพยายามร้อยเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเวที

การใช้หุ่นกระบอกเป็นตัวอย่างสำคัญของกระบวนการ“ยัดเหยียด”บทบาทใหม่นี้ให้กับผู้ชม หุ่นกระบอกเหล่านี้ไม่ใช่หุ่นกระบอกที่จำลองขนาดจากสัดส่วนมนุษย์ (human scale) แต่มีขนาดของสัดส่วนที่ไม่สมดุลและใหญ่เกินจริง ไม่ว่าจะเป็นหุ่นของนักเดินทางและหญิงสาวในฉากเพลงร็อกแอนด์โรลด์ ที่แทนที่จะเป็นคนสองคนเต้นดูโอกัน กลับกลายเป็นหุ่นใหญ่สองตัว ฉากนี้ดูเผินๆแม้จะสนุกสนานเพราะจังหวะร็อกแอนด์โรลด์ แต่ก็มีองค์ประกอบหลายอย่างที่“ขัดขา”ความรู้สึกของผู้ชมไม่น้อย ขนาดของหุ่นเป็นส่วนหนึ่ง การที่เราต้อง”เผชิญหน้า” (ในลักษณะที่เบือนหน้าหนีไม่ได้) กับหุ่นใหญ่ยักษ์สองตัวนี้ที่จำลอง “ความเป็นมนุษย์” ออกมาในลักษณะที่ไม่สวยงาม ไม่สมบูรณ์แบบ เป็นเหมือนการบังคับให้ต้องเผชิญหน้ากับความแปลกแยกและความเป็นอื่น(หุ่นและความไม่สมบูรณ์แบบ) ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเรา(เสมือนมนุษย์) บังคับให้ต้องตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ กับตรรกะของความเป็นได้ พูดให้ถึงที่สุดคือ ตั้งคำถามกับ“ความจริง”(ในความหมาย reality ไม่ใช่ truth)และกับความสัมพันธ์ของความจริงกับสิ่งที่มองเห็น พูดง่ายๆคือ เราถูกให้บังคับให้ตั้งคำถามกับกระบวนทัศน์ในแบบที่เรายึดถือมาตลอด เกี่ยวกับโลกความจริงและเกี่ยวกับ“ความเป็นเรา”

ยิ่งไปกว่านั้น หากเราพิจารณาตอนจบของฉากก่อนหน้า เราจะพบว่าเป็นเสมือน“บทโหมโรง”ให้กับการ“เผชิญหน้า”ครั้งนี้ เพราะในตอนสุดท้ายของฉากก่อนหน้า เราจะเห็นว่าหญิงสาวและนักเดินทางดึงเอาตุ๊กตาตัวเล็กซึ่งเป็นภาพเหมือนของตัวเองออกมาจากกระเป๋าเดินทาง นั่งลงและจ้องมองมันอย่างไม่กระพริบตา และฉากนี้ก็จบลงที่หุ่นขนาดใหญ่ของทั้งคู่นั่งลงอยู่ด้านหลังทั้งคู่อีกที เป็นเหมือนภาพซ้อนในกระจกที่ไม่มีที่สิ้นสุด

ความรู้สึกแปลกแยกยังถูกตอกย้ำมากขึ้นด้วยฉากที่หญิงสาวเต้นกับมือมหึมาขนาดใหญ่ยักษ์ที่ขยับตัวไปตามการเต้นของเธอ การดึงอวัยวะมนุษย์ออกมาเพียงส่วนเดียวคือ มือ และขยายขนาดให้ใหญ่มโหฬาร ชวนให้นึกถึงงานของศิลปินร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส César Baldaccini ที่จะดึงเอาอวัยวะส่วนต่างๆออกมาจากบริบททางกายภาพของมัน เพื่อรังสรรค์เป็นงานปฏิมากรรมชิ้นโต ไม่ว่าจะเป็น นิ้วโป้ง หน้าอก หรือแม้แต่อวัยวะเพศชาย ซึ่งเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับปฏิมากรรมเหล่านี้แล้ว ความรู้สึกแปลกแยกต่อร่างกายเราเองถูกตอกย้ำและเน้นเสียจนน่าเวียนหัว เป็นอาการทางอภิมหาปรัชญาที่เรียกว่า nausea ในแบบของ Jean-Paul Sartre นักปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (existentialism) เลยทีเดียว






สุดปฐพี : ในความเปราะบางและพร่ามัวของเส้นแบ่งเขต

ในท้ายสุดของการเดินทางครั้งนี้ เราก็รู้ว่าไม่มีอะไรที่เราจะสามารถยึดเป็นสารถะได้เหมือนเดิมต่อไปแล้ว ทุกอย่างถูกตั้งคำถาม จะด้วยเสียงหัวเราะหรือเสียงของความเงียบชั่วอึดใจ การที่ในหลายๆฉากมีการใช้พลาสติกที่บางเบามาเป็นองค์ประกอบสำคัญและ“เล่น”กับความ“ขุ่น”ของมันในทุกแง่มุมในเวลาเดียวกัน (“ขุ่น”เพราะลักษณะของมันคือทั้งความไม่โปร่งใสและความไม่หนาทึบ) สะท้อนสภาวะของความพร่ามัวและเปราะบางของภาพฝันต่างๆที่ปรากฏบนเวที

ความเปราะบางนี้ปรากฎในอัตลักษณ์และสถานะของตัวละครด้วยเช่นกัน ในแง่ของอัตลักษณ์ ทั้งนักเดินทางและหญิงสาวสุดท้ายแล้วอาจเป็นตัวตนที่ต่างไปของคนเดียวกันหรืออาจเป็นคู่ขัดแย้งที่ไม่มีทางรวมกันได้ อาจเป็นการต่อสู้ของจิตใต้สำนึก อาจเป็นความทรงจำวัยเยาว์หรือความทรงจำของสิ่งที่โหยหาที่ไม่เคยเกิดขึ้น ส่วนตัวละครอื่นๆที่ปรากฏตัวเป็นกลุ่มเสมอๆ ทำให้เรานึกถึงกลุ่มคอรัสในโศกนาฏกรรมกรีก ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งตัวสะท้อนความคิดของตัวละครหลัก เป็นทั้งคนดู เป็นทั้งคนวิจารณ์และคนเล่าเรื่อง เป็นใครก็ได้และเป็นทุกคน สุดท้ายแล้ว นักเดินทาง หญิงสาวและคอรัสก็อาจสลับตัวกันไปมาได้ (interchangeable) ในแง่นี้ การที่นักแสดงในคณะของ Philippe Genty สลับสับเปลี่ยนกันเล่นเป็นตัวละครต่างๆก็อาจสื่อถึงสภาพไร้อัตลักษณ์ที่ชัดเจนของตัวละครก็เป็นได้

ส่วนในแง่ของสถานะความเป็นตัวละคร เราจะเห็นความไม่เที่ยงและไร้กระพี้ของตัวละครผ่านการสลับเปลี่ยนตัวกันระหว่างตัวละครที่มีเนื้อหนังมังสากับกระดาษที่ถูกตัดเป็นรูปด้านข้างของคน ฉากที่ติดตาหลายๆคนคงจะเป็นฉากที่พื้นหลังเป็นสีแดงในช่วงท้ายของการแสดง ซึ่งจะเห็นตัวละครในลักษณะเป็น silhouette นักแสดงในตอนแรกกลายมาเป็นกระดาษแข็งในตอนท้าย

สภาพความเปราะบางและไร้สถานะที่แน่นอนของตัวละครเหล่านี้ ที่ในตอนเริ่มต้นการแสดงมีอัตลักษณ์ที่ค่อนข้างชัดเจนบ่งบอกได้ว่าใครเป็นใคร ทำให้เรา ผู้ชม ต้องกลับมาตั้งคำถามกับความ “มีอยู่” และ “เป็นอยู่” ของสิ่งที่เราเห็น เชื่อและยึดถือ ตลอดระยะเวลาของการแสดง

ณ จุดสิ้นสุดของเขตแดนของสิ่งที่จับต้องได้ การเดินทางครั้งนี้คือการเดินทางเพื่อเรียนรู้และสำรวจ จากความทรงจำครั้งเยาว์สู่ภาพแห่งความฝันและความกลัว โดยผ่านความไม่แน่นอนและความเป็นไปได้ทั้งมวล เป็นเหมือนการผจญภัยเพื่อไปพบกับ “คนอื่น” พบกับ “ความเป็นอื่น” ที่อาจอยู่ภายในตัวเราเอง

เส้นแบ่งเขตของสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งเขตของเวลา ของสถานที่ และของอัตลักษณ์ใดๆถูกทำให้พังทลายลง ตัวละครไม่มีแผ่นดินใดๆให้เหยียบอีกแล้ว ทุกอย่างค่อยๆหายไป จากฉากของพื้นดิน การเดินทางมาจบลงที่ฉากของท้องฟ้าที่มึดครึ้ม พร้อมกับการจากไปของ“คนอื่่น”

จบที่แสงรุ่งอรุณสีแดงของพระอาทิตย์
ความหวังหรือการตื่น?


กระดาษลึกลับใบนั้น ที่เปลี่ยนขนาดและปริมาณได้ไม่สิ้นสุด ได้ปลิวไปตามสายลมและหายไปอย่างไร้ร่องรอย โดยที่เราจะไม่มีทางได้รู้ว่ามันคืออะไร จดหมายรัก แผนที่หรือลายแทงขุมทรัพย์? ทุกอย่างยังคงพร่ามัว ไม่ชัดเจน ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปใดๆ สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในความทรงจำคือพลังของ “ความเป็นไปได้” ที่ไร้พรมแดนและเหนือกาลเวลา

*เทศกาล La Fête จัดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม มีการแสดงจากศิลปะหลากหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ อาหาร ทัศนศิลป์หรือนาฏยศิลป์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่www.lafete-bangkok.com

ฉบับเต็มพิมพ์ในวารสาร "โลกดนตรี" วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล เดิอนกรกฏาคม 2552
ฉบับย่อพิมพ์ใน "จุดประกาย" กรุงเทพธุรกิจ 22 มิ.ย. 2552
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/culture/20090622/52565/%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%90%E0%B8%9E%E0%B8%B5.html

No comments:

Post a Comment

Travel Writings on Indochina

I've been collecting a collection of travel writings on Indochina at the fin de siècle: Morice Docteur, 'Voyage en Cochinchine',...