อาลัยหลุยส์ บูร์ชัวส์ (1911-2010)

การพบกันระหว่างงานของศิลปินหญิงร่วมสมัยคนนี้กับจริตทางศิลปะของดิฉันอุบัติขึ้น ณ ห้องโถงใหญ่ใจกลางศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติปองปิดู (Centre Pompidou) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2008

หลุยส์ บูร์ชัวส์กับผลงาน 'La Fillette' (เด็กหญิง) ถ่ายโดย Robert Mappelthorpe, 1982


'Maman' ('แม่') ประติมากรรมชิ้นยักษ์ในร่างของแมงมุมยืนตระหง่านกางขาที่รกรุงรังของมันขวางบันไดเลื่อนที่นำเราสู่งาน 'Retrospective' ของ หลุยส์ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois)

แม่แมงมุมหรือแมงมุมเพศหญิงผู้ให้กำเนิดนี้ช่างน่าหลงใหลและน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกัน แข็งกร้าวแน่นิ่งเนื่องด้วยธรรมชาติของวัสดุ แต่กลับให้ความรู้สึกลื่นไหลพร้อมที่จะก้าวขาอันยาวเยียดของมันเข้ารัดรึงผู้ที่จ้องมองอยู่ห่างๆ อย่างหวาดระแวงระคนชื่นชม


'Maman', 1999 แสดงที่เทท โมเดริ์น กรุงลอนดอน


งานชิ้นนี้นับเป็นหนึ่งในงานศิลปะร่วมสมัยที่ตระเวนแสดงทั่วโลกมากที่สุดชิ้นหนึ่งก็ว่าได้ แม้แต่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครก็เคยนำผลงานในชุดนี้มาจัดแสดงช่วงปลายปี 2551

เกิดในประเทศฝรั่งเศสในปี 1911หลุยส์ บูร์ชัวส์ย้ายมาพำนักและทำงานที่นครนิวยอร์กตั้งแต่ปี 1938 เธอเป็นหนึ่งในประติมากรหญิงที่ได้รับการยอมรับให้ยืนอยู่แถวหน้าของวงการศิลปะโลก

แม้ว่างานของเธอจะผ่านอิทธิพลศิลปะแนวอาวองการ์ดที่แตกต่างหลากหลายตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 จาก Surrealism สู่ Abstract Expressionism, จาก Minimalism สู่ Feminism เธอยังคงรักษาความเป็นตัวของตัวเองที่สร้างสรรค์และทรงพลังเสมอมา

ข้ามเกี่ยวระหว่าง Figuration และ Abstraction งานของเธอครอบคลุมตั้งแต่ภาพวาด ลายเส้น ภาพพิมพ์ ประติมากรรม สื่อผสมและInstallation ที่มุ่งสำรวจและตอกย้ำหัวข้อเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผ่านการทดลองวัสดุและเทคนิคที่หลากหลายและท้าทายเช่น ลาเท็กซ์ ทองแดง เรซิน หินอ่อน กระจกและผ้า

ตลอดชีวิตการทำงานที่ยาวนานหลายทศวรรษ งานของเธอแสดงให้เห็นถึงความเป็น 'ขบถ' ที่ท้าทายบรรทัดฐานทางศีลธรรมของสังคมหลังสมัยใหม่

หัวข้อที่เธอสอบทานล้วนอยู่ใน 'พื้นที่อ่อนไหว' ของสังคม นั่นคือ ประเด็นเรื่องเพศสภาพโดยเฉพาะความเป็นเพศหญิง ความโดด เดี่ยว การร่วมรักและบาดแผลทางกายภาพและจิตใต้สำนึกประเด็นเหล่านี้จะถูกนำเสนอผ่านกระบวนการแปรสภาพเชิงสุนทรียะภายใต้ตรรกะส่วนตัวว่าด้วยเรื่องความทรงจำและการปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก

ท่ามกลางผลงานที่มากมายและหลากหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น 'ชีวรูปประติมากรรม' (biomorphic sculpture) ซึ่งนำเสนออวัยวะของร่างกายมนุษย์โดยแยกออกมาเป็นส่วนๆ ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายสุนทรียรสของเหล่าผู้เสพงานศิลปะได้อย่างถึงแก่น


ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ถูกตรึงด้วยงานประติมากรรมที่พิลึกพิลั่น รุนแรง ไร้ซึ่งจริต หากเต็มไปด้วยเสน่ห์ของเธอ โดยเฉพาะงานที่ตั้งคำถามกับบทบาทของผู้หญิง อย่างเช่นงานชื่อ 'Mamelles' ('หัวนม') ที่ จัดแสดงในนิทรรศการถาวรของ Tate Modern กรุงลอนดอน


Mamelles, 1991


'หัวนม' ที่มากมายเบียดเสียดเหล่านี้ถูกแขวนไว้บนผนังราวกับเป็นลวดลายการตกแต่งในสถาปัตยกรรมคลาสสิกของยุโรปประเภทหนึ่งเรียกว่า frieze (บัวหรือสายสลักบนเสา) เราสามารถมองเป็นสัญลักษณ์ของบทบาทหน้าที่การให้นมลูกของผู้หญิง หรืออาจมองว่าเป็นการเสนอภาพของเพศหญิงในแง่ของ 'วัตถุทางเพศ' ในสภาพไร้ซึ่งการปกปิดและบอบบางก็เป็นได้

บูร์ชัวส์มักจะเชื่อมงานชิ้นนี้กับตำนานดอน ฮวน ชายหนุ่มเจ้าเสน่ห์โดยกล่าวว่าหัวนมเหล่านี้ “เสนอภาพของผู้ชายที่อยู่ได้ด้วยการเกี้ยวพาราสีหญิงสาว ผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เขาใช้เธอเหล่านั้นเป็นอาหาร หากไม่เคยให้อะไรตอบแทน เขารักได้เพียงแบบเดียวเท่านั้น คือสูบกินและเห็นแก่ตัว”

การนำเสนอ 'ภาพ' ของเพศหญิงผ่านอวัยวะส่วนต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นภาพแทนของความเป็นหญิงแบบดิบๆ นั้นเป็นการตั้งคำถามกับสภาวะที่ถูกทำให้เป็น 'วัตถุทางเพศ' อย่างเปิดเผย เป็นการสำรวจบาดแผลของการมีตัวตนภายใต้ข้อจำกัดทางเพศสภาพที่สังคมกำหนด ด้วยเหตุนี้ บูร์ชัวส์จึงถูกจัดโดยนักสตรีนิยมให้เป็นศิลปินแนวสตรีนิยม แม้ว่าเธอเองจะปฏิเสธป้ายชื่อนี้ก็ตาม

I Do, I Undo and I Redo, 2000, เทท โมเดริ์น กรุงลอนดอน

หากย้อนกลับมาพิจารณาผลงานชิ้นเอกของเธอ 'Maman' หรือแม่แมงมุม เราจะพบว่า แม้ชื่อเรียกอาจให้ความรู้สึกอบอุ่น เราคงอดรู้สึกหวาดผวาไม่ได้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสัตว์แปดขาขนาดมหึมานี้ เนื่องจากแมงมุมคือภาพแทนของความกลัววัยเยาว์ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเด็กที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ทุกคน

บูร์ชัวส์เชื้อเชิญให้เราเผชิญหน้ากับความกลัวครั้งเก่าที่เราเคยมีต่ออาณัติของบุพการี แม่แมงมุมนี้คือการเล่นกับความกลัวเพื่อขจัดมัน เป็นการทำให้ความกลัวกลายสภาพเป็นความบันเทิงเชิงสุนทรียะ ผ่านกระบวนการทำให้เลิศเลอของศิลปะ (Sublimation)

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้านี้เหมือนกับสิ่งที่ Freud นักจิตวิเคราะห์นามอุโฆษเรียกว่า 'ความแปลกประหลาดที่น่าวิตก' (Disquieting Estrangement)

ในงานของบูร์ชัวส์ ความแปลกประหลาดนี้ถูกทำให้เป็นอารมณ์ทางสุนทรียะพอๆ กับความรู้สึกทางกายภาพที่เกิดขึ้นจริง ดังคำกล่าวของบูร์ชัวส์ ว่า “ในเมื่อความกลัวอดีตเกี่ยวเนื่องกับความกลัวทางกายภาพ ความกลัวจึงปรากฏตัวให้เห็นผ่านร่างกาย สำหรับฉัน ประติมากรรมคือร่างกาย ร่างกายฉันคือประติมากรรม”

งานศิลปะจึงไม่ได้เป็นเพียงอุปลักษณ์ของอารมณ์ความรู้สึก หากได้กลายเป็นอารมณ์ความรู้สึกในตัวของมันเองด้วยเช่นกัน

ผ่านความกำกวมพร่ามัวระหว่างวัสดุ รูปทรงและความหมาย งานประติมากรรมเหล่านี้ปลดปล่อยและขับเน้นอารมณ์ความรู้สึก (affects) ที่หลากหลายซึ่งซ่อนตัวภายใต้จิตสำนึกของเรา

ผ่านความลักลั่นระหว่างความงามกับความน่าสะพรึงกลัว งานของบูร์ชัวส์ ตั้งคำถามกับทฤษฎีคลาสสิกเรื่องความงามและเรื่องความเป็นศิลปะในเวลาเดียวกัน

หลุยส์ บูร์ชัวส์จากเราไปด้วยวัย 98 ปีในวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 เหลือทิ้งไว้เบื้องหลังคือผลงานศิลปะหลายร้อยชิ้นซึ่งถือเป็นหมุดปักหลักสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะและประวัติศาสตร์ผลงานสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ
.............
หมายเหตุ : ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการ 'Retrospective' ที่ Centre Pompidou ปี 2008 ได้ที่ www.centrepompidou.fr และสามารถชมวีดีโอประชาสัมพันธ์นิทรรศการพร้อมเสียงร้องเพลงกล่อมเด็กของ Bourgeois ได้โดยเลือกที่ Bande annonce

เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ใน "จุดประกาย" กรุงเทพธุรกิจ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/culture/20100617/338297/อาลัยหลุยส์-บูร์ชัวส์-(1911-2010).html

Travel Writings on Indochina

I've been collecting a collection of travel writings on Indochina at the fin de siècle: Morice Docteur, 'Voyage en Cochinchine',...