โซตัส : เมล็ดพันธุ์อุดมการณ์อำนาจนิยมที่ตกค้างในสังคมไทย

“พวกคุณท้าทายอำนาจประธานเชียร์”


“ทำลายเจตนารมณ์ของพวกผมที่สืบทอดมาเป็นรุ่น


พวกคุณไม่ภูมิใจในสถาบันใช่ไหมครับ จึงทำอย่างนี้ ไปเรียนที่อื่นก็ยังทันนะครับ”


“ถ่ายรูปบันทึกหน้าตาให้ผมหน่อย จะได้ออกนอกระบบแบบเบาๆเหมือน Singular”


“มิน่าล่ะครับ รุ่นน้องมันถึงไม่ฟังรุ่นพี่”


“Staff ทุกคนมีความจิตอาสา"
(เน้นคำโดยผู้เขียน)



เหล่านี้คือประโยคที่ถูกเปล่งออกมาจากปากของนิสิต "รุ่นพี่" ซึ่งเป็นประธานเชียร์ในงานรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อประฌามนิสิตกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรม “ห้องเชียร์” และได้พยายามขึ้นเวทีแสดงป้ายประท้วงและขออ่านแถลงการณ์ที่พวกตนเตรียมมา จนถูกกลุ่มผู้จัดงานโห่ไล่ให้ออกไปจากสถานที่จัดงาน (1)

วีดีโอนี้ได้รับการเผยแพร่ในเวปไซต์ Youtube และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์และเวบบอร์ดต่างๆในอินเตอร์เนต ล่าสุด เวปไซต์ประชาไทได้ลงสัมภาษณ์หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิสิตที่ดำเนินกิจกรรมคัดค้านห้องเชียร์ (2)

และมติชนออนไลน์ได้เผยแพร่ “จดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามและสังคมไทย เรียกร้องปฏิรูประบบรับน้อง/ห้องเชียร์” ซึ่งมีอาจารย์ นิสิตนักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไปร่วมลงชื่อมากกว่า 200 คน (3)

และยังคงมีผู้ทยอยลงชื่อสนับสนุนจดหมายนี้อย่างต่อเนื่องใน Event ซึ่งถูกสร้างขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook (4)

จากระบอบการปกครองแบบเจ้าอาณานิคม สู่เผด็จการห้องเชียร์ : เส้นทางประวัติศาสตร์ของ “อุดมการณ์โซตัส”

ระบบโซตัส (SOTUS) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายสถาบันการศึกษาในปัจจุบันนั้น สันนิษฐานว่าเริ่มต้นขึ้นจากการนำระบบอาวุโสของโรงเรียนกินนอนในประเทศอังกฤษ (Fagging system) เข้ามาใช้ในโรงเรียนมหาดเล็กตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2440 ซึ่งเป็นระบบที่มีการแต่งตั้งดรุณาณัติ (Fag-master หรือ Prefect) จากนักเรียนอาวุโสผู้เรียนดีและประพฤติดี เพื่อทำหน้าที่ช่วยครูในการอบรมสั่งสอนและดูแลคณะนักเรียน โรงเรียนมหาดเล็กซึ่งพัฒนามาจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์แรกเริ่มเพื่อผลิตข้าราชการสำหรับกิจการปกครองท้องถิ่น ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่าโรงเรียนมหาดเล็กคือกลไกสำคัญในการทำให้โครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจเพื่อ “ปกครอง” และ “ควบคุม” เมืองขึ้นแข็งแกร่งขึ้น ในช่วงเวลาที่สยามยังไม่เป็นรัฐชาติเฉกเช่นที่เรารู้จักกันทุกวันนี้

ครั้นต่อมา เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้สานต่อระบบอาวุโส ผนวกกับแนวคิดเรื่องระเบียบ ประเพณี สามัคคีและน้ำใจ จนคำว่า โซตัส (SOTUS) กลายเป็นคำขวัญทั้ง 5 ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเป็นปณิธานในการอบรมสั่งสอนของผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ ไม่ปรากฎการใช้ความรุนแรงใดๆ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าระบบโซตัสในระยะแรกมีลักษณะของความเป็น “อุดมคติ” คือเป็นจินตนาการร่วมของมาตรฐานทางจริยธรรมที่ข้าราชการพลเรือน (ซึ่งต้องออกไป “ปกครอง” ท้องถิ่นแดนไกลอันป่าเถื่อนล้าหลังในนามของราชการไทย)​ ต้องไปให้ถึง ซึ่งสอดรับเป็นอย่างดีกับบริบททางการเมืองของการผนวกรวมชาติและการสร้างมาตรฐานเดียวให้กับคุณค่าต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องเป็นมาตรฐานของ “ส่วนกลาง” เท่านั้น

ต่อมา ระบบโซตัสในรูปแบบที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งหมายถึงการผนวกรวมกิจกรรมการว้ากและการลงทัณฑ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งนั้น ประเทศไทยรับมาในช่วงสงครามเย็นหรือประมาณทศวรรษ 2480 โดยได้มีการส่งนักศึกษาไปเรียนระดับปริญญาตรีในสหรัฐอเมริกา (โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยออเรกอนและมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์) และในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติ ณ เมืองลอสแบนยอส ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในขณะนั้น ฟิลิปปินส์ถูกยึดครองโดยอเมริกามาเกือบครึ่งศตวรรษก่อนหน้า “ผู้ปกครอง” ได้ถ่ายทอดรูปแบบเทคโนโลยีและรูปแบบการเรียนการสอนให้กับ “ผู้ถูกปกครอง” จึงทำให้แนวคิดและระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้เป็นไปในแบบอเมริกัน

เมื่อจบกลับมา นักศึกษาของไทยก็ได้นำเอาระบบการว้าก (การกดดันทางจิตวิทยา) และการลงโทษ (การทรมานทางร่างกาย) มาใช้กับมหาวิทยาลัยไทย โดยเริ่มจากโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม่โจ้ เชียงใหม่ ซึ่งผลิตนักเรียนเพื่อเข้าเป็นนิสิตของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(5)

เป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้นำคำว่า “โซตัส” ซึ่งเป็นคำขวัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาปรับใช้เรียกระบบการรับน้อง “นำเข้า” รูปแบบใหม่นี้

จากมุมมองทางประวัติศาสตร์นี้ ระบบโซตัสถือเป็น “ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากการหยิบยืม “องค์ความรู้” และ “เทคโนโลยี” สมัยใหม่มาจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยมทั้งอังกฤษและอเมริกัน แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ก็อิงอยู่บนฐานกรอบคิดเดียวกัน กล่าวคือ กรอบคิดแบบเจ้าผู้ปกครองอาณานิคม ซึ่งมีรูปแบบที่เข้มข้นรุนแรงเพื่อกำราบ “เมืองขึ้น” ให้สยบยอม โดยในทางเนื้อหานั้น การเข้าไปรุกรานและควบคุม จำต้องนำรูปแบบการปกครองแบบทหารเข้ามาใช้ โดยผ่านกลไกของระบบการศึกษาของพลเรือน

นอกจากนี้ หากพิจารณาบริบททางการเมืองของไทยในยุคที่โซตัสลงหลักปักฐานอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยไทยนั้น เรากำลังอยู่ในยุค “รัฐนิยม” ที่มาพร้อมกับการปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้แก่เยาวชนและราษฎรไทย จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากแนวคิดและรูปแบบของการปกครองนี้จะถูกหยิบมาใช้ในสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยมีจุดประสงค์เชิงอุดมการณ์ เพื่อสร้างราษฎรที่มีคุณภาพ (ตามอุดมคติของรัฐ) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติ เพราะในลัทธิชาตินิยม ไม่มีพื้นที่ให้กับความเป็นปัจเจกและความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเป็นของตน จะมีก็เพียงแต่สำหรับราษฎรที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามหน้าที่ของตน (ตามที่รัฐบอก) อย่างเชื่องๆ

ต่อมาในทศวรรษ 2510 เมื่อกระแสสำนึกประชาธิปไตยถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้งเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารโดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา ประเพณีและวิถีปฏิบัติจารีตนิยมหลายอย่างได้ถูกตั้งคำถามในฐานะฟันเฟืองสำคัญทางวัฒนธรรม ซึ่งผู้นำเผด็จการและเครือข่ายอุปถัมภ์นำมาใช้ครอบงำความคิดในระดับจิตใต้สำนึกของประชาชนอย่างแนบเนียน ระบบโซตัส ภายใต้ชื่อเรียกว่า “การรับน้อง” และ “ห้องประชุมเชียร์” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกตั้งคำถามในฐานะหัวขบวนแห่งกระบวนการปลูกฝังกล่อมเกลาปัญญาชนคนหนุ่มสาวให้อยู่ในสภาพเกียจคร้านทางปัญญาและสภาพชินชาทางการเมือง

ในยุคนี้ เรามีตัวอย่างมากมายของ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดประเด็นถกเถียงเรื่อง “วัฒนธรรมการรับน้อง” ดังกรณีของกลุ่มวลัญชทัศน์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ส่งตัวแทนชิงตำแหน่งประธานชมรมเชียร์ โดยมีนโยบายสำคัญคือการ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเชียร์ ซึ่งก็ได้รับชัยชนะ และสิ่งแรกที่ทำคือการแจกบทกวี ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ ของ วิทยากร เชียงกูล ให้แก่นักศึกษาใหม่ในห้องเชียร์(6)

แต่หลังจากความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาหลัง 2519 ระบบโซตัสก็ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง คู่ขนานไปกับการกลับมาของการเมืองแบบจารีต ที่มีฐานมาจากระบบอุปถัมภ์และเครือข่ายความสัมพันธ์ของชนชั้นปกครอง การใช้อำนาจปกครองทางการเมืองและวัฒนธรรมถูกทำให้ซับซ้อนและนุ่มนวลขึ้นด้วยเครื่องมือใหม่ที่ชนชั้นนำไทยรับมาจากระบอบจักรวรรดินิยมใหม่ในยุคหลังสงครามเย็น ภายใต้โฉมหน้าของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ซึ่งใช้กลไกระบบตลาดในการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนในสังคมจากการกดขี่และจากปัญหาทีี่แท้จริงได้อย่างเหนือชั้นยิ่งกว่าระบบใดๆในประวัติศาสตร์ การตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (แม้จะมีมาช้านานก็ตาม) จึงถูกทำให้เลือนหายไปจากสังคมไทย เฉกเช่นจิตสำนึกทางสังคมที่เจือจางไปจากคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของบัณฑิตรั้วมหาวิทยาลัย

หากพิจารณาภาพรวมทางประวัติศาสตร์การเดินทางของระบบโซตัสเพื่อฝังรากในวัฒนธรรมไทยนั้น จะเห็นได้ว่า จาก “อุดมคติทางจริยธรรม” ในยุคแรกเริ่มพัฒนาสยามประเทศ ระบบโซตัสได้อวตารมาเป็น “อุดมการณ์โซตัส” อันเข้มเข็งและแข็งทื่อในยุครัฐนิยมและยุคเผด็จการทหารในตอนปลายพุทธศตวรษที่ 25 และตอนต้นพุทธศตวรรรษที่ 26 และได้สร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองอีกครั้งหลังความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้า และก็เป็นรูปแบบ “เผด็จการห้องเชียร์” เดียวกันนี้เองที่ยังคงสืบต่อมาจนปัจจุบัน

การว้าก การลงทัณฑ์และห้องเชียร์: ฤาเยาวชนไทยจะไร้ซึ่งจินตนาการ?

ในแต่ละปี ตลอดช่วงเดือนแรกคาบเกี่ยวถึงเดือนที่สองของการเปิดภาคการศึกษา การประชุมเชียร์หรือห้องเชียร์ได้กลายมาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่นิสิตนักศึกษาแรกเข้าหรือ “น้องใหม่” ต้องถูกบังคับหรือกึ่งบังคับให้เข้า “ซ้อมเชียร์”​ โดยรุ่นพี่ที่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยหรือที่จบไปแล้วจะทำการประชุมวางแผนซักซ้อมกิจกรรมตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน โดยกิจกรรมหลักประกอบด้วย การว้ากที่มาพร้อมกับการลงทัณฑ์

“การว้าก” คือการสร้างบรรยากาศของความกดดันและความหวาดกลัวทางจิตวิทยา ด้วยกระบวนการทำให้เกิด “ความรู้สึกผิด” (emotional guilt) ผ่านการใช้ชุดคำแบบแผนสำเร็จรูปชุดหนึ่งซ้ำไปมา โดยกลุ่มคนซึ่งสถาปนาตนเองเป็น “รุ่นพี่” บนฐานข้ออ้างเรื่องความอาวุโส (Seniority อักษรตัวแรกของชื่อย่อ SOTUS) เป็นผู้บังคับใช้คำสั่งและการลงโทษทรมานทางร่างกายซ้ำไปมา ในฐานะเครื่องมือละลายพฤติกรรม โดยทั้งหมดทั้งมวลมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างกลุ่มรุ่นน้องที่เชื่อฟังอย่างมีระเบียบวินัย (Order จึงถูกใช้ในสองความหมาย คือคำสั่งและระเบียบวินัย) มีความเป็นหนึ่งเดียว (Unity) และมีความรักเทิดทูนและภูมิใจในสถาบันของตน (Spirit) ทั้งหมดนี้ เรียกกันทั่วไปว่า กระบวนการสืบทอดส่งต่อ “ประเพณีรับน้องใหม่” (Tradition)

หากพิจารณาคำพูดของนักศึกษาผู้นำเชียร์ที่ยกมาในตอนต้นของบทความและเชื่อมโยงเหตุการณ์นี้เข้ากับวันที่บนปฏิทิน (5 มิถุนายน พ.ศ. 2554) เราจะเห็นความลักลั่นระหว่างบริบทของยุคสมัยกับชุดคำพูดซึ่งสะท้อนชุดความคิดของอุดมการณ์โซตัสได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ในยุคซึ่งฉันทามติของสังคมไทยเรียกร้องความเท่าเทียม ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก อุดมการณ์โซตัสกลับผลิตซ้ำวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของยุคเผด็จการ อันมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างความซาบซึ้งกับจารีตนิยมอย่างปราศจากการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลและการผูกขาดการตีความรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสถาบัน (ในที่นี้ คือสถาบันการศึกษาและสถาบันอาวุโส) ให้มีลักษณะแข็งทื่อไร้พลวัต โดยโจมตีกลุ่มคนที่เห็นต่างว่าเป็นพวกบ่อนทำลาย “เจตนารมณ์” และ “ประเพณีอันเก่าแก่” หรือเป็นพวก “ร้อนวิชาสิทธิมนุษยชน” หรือ “ทำลายชื่อเสียงสถาบัน” (ดังตัวอย่างบทสัมภาษณ์อันน่าเศร้าสลดใจของอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคามและความคิดเห็นของกลุ่มสนับสนุนกิจกรรมประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม(7)

วิวาทะว่าด้วยระบบโซตัสจึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การตั้งคำถามกับรูปแบบและวิธีการของประเพณีการรับน้องภายในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น (กล่าวคือ เราจะใช้วิธีการอย่างไรก็ได้ แม้ว่าจะล้าหลังหรือขัดแย้งกับยุคสมัยเพียงใด เพื่อให้ได้มาซึ่งจุดมุ่งหมายอัน “ดี” หรือ? ซึ่งในที่นี้ ยังไม่ได้ตั้งคำถามกับ “เจตนาดี” นี้ ว่าแท้จริงมาจากมุมมองของใคร เพื่อใครกันแน่และ “ดี” จริงหรือ) แต่หมายรวมถึงการเชื่อมโยงระบบโซตัสเข้ากับบริบทภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย เข้ากับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบันที่รากเหง้าของปัญหาทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมมาจากการไม่ยอมรับและไม่เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายและจากการดำรงอยู่ของระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้องอันนำมาซึ่งการเลือกปฏิบัติและความอยุติธรรมทั้งหลายในสังคม

ในแง่นี้ พื้นที่ปิดของห้องเชียร์จึงกลายมาเป็นพื้นที่จำลองของปฏิบัติการใช้อำนาจที่ไร้ความชอบธรรมใดๆ เป็นพื้นที่ฝึกความชาชินให้สยบยอมต่อ “ความเป็นธรรมชาติ” (ภายใต้ชื่อเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ว่า “ประเพณี”) ของโครงสร้างเดิมทางสังคม ซึ่งถูกประกอบสร้างและสถาปนาขึ้นจากอำนาจภายนอก จนนำไปสู่การสมยอมให้ถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของระบบต่อไป และยังเป็นพื้นที่ของการส่งทอด “วัฒนธรรมเหยียด” ผู้อื่น จึงไม่น่าแปลกใจเลยหาก แท้จริงแล้ว ชนชั้นกลางมีการศึกษาทั้งหลายจะเป็นผู้ชื่นชอบในระบอบเจ้าขุนมูลนายและดูถูกผู้อื่นที่ไม่มีการศึกษาเท่าเทียมตน เพราะคนเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์ที่สถาปนาผ่านระบอบการศึกษา จึงต้องพยายามปกปักรักษาอุดมการณ์โซตัสนี้ไว้เพื่อรักษาสถานภาพความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ในสังคมให้คงทนถาวรสืบไป

ภายในพื้นที่ปิดของห้องเชียร์และรั้วมหาวิทยาลัย นักศึกษาทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องได้กระทำการ “สืบทอด” พิธีกรรมปิดหูปิดตาและปิดจินตนาการของคนหนุ่มสาวในนามของ “อัตลักษณ์” อันคับแคบของการเป็นนักศึกษาของสถาบันใดสถาบันหนึ่งอย่างเดียว การปฏิเสธที่จะตั้งคำถามหรือเปิดเวทีเสวนาถกเถียงถึงความชอบธรรมของการมีอยู่ของระบบโซตัส ในท่ามกลางสังคมไทยยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่โครงสร้างทางสังคมการเมืองแบบจารีตนิยมสั่นคลอนอย่างถึงราก เป็นเสมือนการเลือกขีดเส้นวงกลมล้อมรอบตนเองเพื่อปิดตายศักยภาพของความเป็นปัญญาชนที่ควรจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและเลือกการกดทับปิดกั้นพลังสร้างสรรค์แห่งวัยรุ่นด้วยการสร้างความเป็นอื่นให้กับตนเองและให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่พวกตน

นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายหากพวกเขาไม่สามารถมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆของรูปแบบการต้อนรับ “เพื่อนใหม่” ที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมนุมโดยรอบมหาวิทยาลัยเพื่อเรียนรู้จากของจริง ปัญหาจริงและคนจริง ฤาพวกเขามองไม่เห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่พื้นที่ปิด แต่เป็นพื้นที่เปิดสู่ความท้าทายของการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริงของสังคมภายนอกซึ่งพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้

ในท่ามกลางเสียงเรียกร้องของสังคมเพื่อการปฏิรูปทางการเมือง การตั้งคำถามกับระบอบคุณค่าอันเป็นฐานเชื่อมโยงและจัดระเบียบความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมเป็นสิ่งที่พึงกระทำร่วมกัน ประเพณีการรับน้องของสถาบันอุดมศึกษาไทยนี้เป็น “พื้นที่สีเทา” ซึ่งไม่มีที่ทางชัดเจนในภูมิทัศน์ของระบบการศึกษาไทย สวนทางกับยุทธศาตร์การพัฒนาการศึกษา สวนทางกับปณิธานของการผลิตบัณฑิตที่มุ่งเน้นให้นิสิตนักศึกษามีทักษะทางปัญญา สวนทางกับสปิริตของการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่ควรอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการวิพากษ์ ท้ายที่สุด ประเพณีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อปรัชญาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่สามารถประนีประนอมได้ เพราะระบบโซตัสเป็นกลไกหลักของการครอบงำเชิงวัฒนธรรมและเป็นเมล็ดพันธุ์ของ “อุดมการณ์อำนาจนิยม” ที่ตกค้างอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกและความคิดความอ่านของผู้คนอย่างแยบยลและแยบคาย อันเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาการเมืองที่นำไปสู่การสังหารหมู่เมื่อพฤษภาคม 2553

(1) ดูวีดีโอที่ http://www.youtube.com/watch?v=hVpM9lKr378&feature=player_embedded
(2) ตัวเลข ณ วันที่ 10 มิถุนายน http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35345
(3) ณ วันที่ 12 มิถุนายน มีผู้ลงชื่อมากกว่า 700 คน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1307627292&grpid=01&catid=&subcatid=
(4) http://www.facebook.com/event.php?eid=125579787523543
(5) ดูคำนำของชาญวิทย์ เกษตรศิริในนิยาย หนุ่มหน่ายคำภีร์ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ โดยอาจารย์์ชาญวิทย์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของระบบอาวุโสและรูปแบบการรับน้องแบบคลุกโคลนปีนเสา
(6) ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหว 2516 และ 2519 ของนักศึกษาภาคเหนือได้ที่ http://2519me.com/NTOctober/NTOcontent/NTOfiles/northernmemostudentpolitichistories4.htm
(7) อ่านบทสัมภาษณ์ได้ที่ http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9540000070954 และรายงานข่าวถึงกลุ่มสนับสนุนการประชุมเชียร์ http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35436

บทความตอนที่ 1 เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 18 มิถุนายน 2554 และมติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308388407&grpid=&catid=02&subcatid=0207

เสวนา "Be young and Shut up": พิธีกรรมการรับน้องใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาของไทย



จากประเด็นถกเถียงเรื่องการรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในขณะนี้ ที่วนเวียนสู่การตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของพิธีกรรมซึ่งดำรงอยู่ในฐานะประเพณีอันดีงาม ผลดี ผลเสีย ที่เกิดขึ้น จากมุมมองของกลุ่มคนที่เห็นด้วย และเห็นแย้ง


วันที่ 15 มิ.ย.54 ที่หอประชุมใหญ่ ห้อง 305 มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ จัดเสวนา “Be Young and Shut Up ? พิธีกรรมการรับน้องใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาของไทย” โดยวิทยากร พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย คำ ผกา นักเขียน และคอลัมนิสต์ วิพากษ์สังคมไทยและวันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ นักศึกษาปริญญาเอก Birkbeck, University of London

ตอบคำถามที่มาโซตัส ในประวัติศาสตร์ไทย
วันรัก ให้ข้อมูลถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของระบบโซตัสของไทยว่า มีช่วงเวลาของการรับระบบนี้เข้ามาอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ทศวรรษ 2440) มีการรับระบบอาวุโส ซึ่งพัฒนามาจากโรงเรียนกินนอน ในลักษณะ public school ในประเทศอังกฤษเข้ามาใช้ ในยุคสมัยนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราโชบายในการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยการรวมศูนย์อำนาจมาอยู่ที่ส่วนกลาง เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวในการปกครอง จากเดิมที่ยังไม่ให้มีสำนึกของความเป็นชาติ ด้วยการผลิตข้าราชการพลเรือนออกไปปกครองหัวเมือง และเมืองขึ้นต่างๆ

ระบบโซตัสในยุคนี้ที่รับมาจะต้องสร้างนักเรียนที่ได้รับการเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่าดรุณาณัติ (ตำแหน่งหัวหน้านักเรียน) จากนักเรียนอาวุโสระดับสูงผู้เรียนดีและประพฤติดีเพื่อทำหน้าที่ช่วยครูในการอบรมสั่งสอนและดูแลนักเรียน เริ่มต้นจากในโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งตอนหลังพัฒนามาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากโรงเรียนมหาดเล็กเป็นกลไกสำคัญในทำให้โครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจในการปกครองและควบคุมเมืองขึ้นต่างๆ มากขึ้น แล้วจุฬาฯ ก็รับต่อมาในเรื่องระบบความอาวุโส และได้ผนวกกับแนวคิดเรื่องระเบียบ ประเพณี สามัคคี และน้ำใจ จึงเกิดเป็นคำว่าโซตัส (S: Senior O: Order T: Tradition U: Unity S: Spirit) ขึ้น กลายเป็นคำขวัญทั้ง 5 ของนิสิตจุฬาฯ และเป็นปณิธานในการอบรมสั่งสอนของผู้บริหาร

วันรัก กล่าวต่อมาว่า ระบบโซตัสในช่วงนั้นมีลักษณะที่เป็นอุดมคติ คือเป็นจินตนาการร่วมของมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการที่ต้องไปปกครองหัวเมือง ไม่มีความรุนแรงใดๆ แต่ระบบโซตัสที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ที่มีการว้าก การลงโทษรุ่นน้อง เริ่มเมื่อปี 2480 ในยุคชาตินิยม ที่ต้องการผลิตราษฎรมาเป็นกำลังส่วนหนึ่งของประเทศ โดยในช่วยนั้นรัฐราชการไทยมีนโยบายส่งนักศึกษาไปเรียนต่อปริญญาตรีในอเมริกา และกลุ่มคนเหล่านี้น่าจะเป็นผู้นำเอาประเพณีมาใช้

วันรัก อ้างถึงข้อสังเกตของ ชาญวิทย์ เกษตรสิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมือง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เห็นภาพประเพณีคลุกโคลน ปีนเสา และการลงโทษน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) และพบว่าประเพณีเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในมหาวิทยาลัยไทย นอกจากนั้นยังมีการนำเอาประเพณีรับน้องมาจากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอเมริกา โดยนักศึกษาเกษตรศาสตร์

“ถ้าเรามองในแง่ของการเมืองเชิงวัฒนธรรม มองในแง่ของประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าระบบโซตัสเป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งถือกำเนิดจากการหยิบยืมองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาจากมหาอำนาจจักรวัตินิยม ทั้งอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งอเมริกา แม้จะต่างกรรม ต่างวาระ แต่ก็อิงอยู่บนกรอบคิดเดียวกัน คือกรอบคิดแบบเจ้าผู้ปกครองอาณานิคม โดยมีรูปแบบที่เข้มข้นเพื่อกำหลาบเมืองขึ้น” วันรักกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า ในทางเนื้อหาของระบบโซตัสเป็นการนำเอารูปแบบการปกครองแบบทหารมาใช้กับระบบการศึกษาของพลเรือน

โซตัสดำรงอยู่คู่การเมืองแบบจารีต
วันรัก ให้ข้อมูลต่อมาว่า ปี 2510 เป็นจุดหักเหในประวัติศาสตร์ระบบโซตัสในไทย เมื่อกระแสประชาธิปไตยถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้งเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร โดยเฉพาะในหมูนักเรียนนักศึกษา ประเพณีแบบจารีตนิยมถูกตั้งคำถามอย่างถอนรากถอนโคน เพราะเผด็จการทหารไม่เพียงปกครองทางการเมืองแต่ยังใช้กระบวนการปลูกฝังกล่อมเกลาทางความคิดผ่านระบบประเพณี วิธีคิด ระบบจารีติต่างๆ ดังนั้น ระบบโซตัสซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นการรับน้องบ้าง ประชุมเชียร์บ้าง จึงถึงตั้งคำถามในฐานนะหัวขบวนของการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่อยู่ในสภาพเกียจคร้านทางปัญญา และชินชาทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากความพ่ายแพ้ของนักศึกษาในปี 2519 ระบบโซตัสได้กลับเข้ามาและดำรงอยู่คู่ขนานกับการเมืองแบบจารีต ที่มีฐานอยู่บนระบบอุปถัมภ์และเครือข่ายของชนชั้นปกครอง โดยการใช้อำนาจถูกทำให้ซับซ้อนขึ้น มีความนุ่มนวลมากขึ้น เพราะกลุ่มผู้นำรับเอาเครื่องมือคือระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์เข้ามาผนวก

“เราเคยตั้งคำถามจริงๆ หรือเปล่าว่า ประเพณีที่เราต้องทำ มันนำมาซึ่งการปลูกฝังบุคลิก อัตลักษณ์ของความเป็นนักศึกษาแบบใด มันต้องการปลูกสร้างอะไร” วันรักกล่าว

อาจารย์จากคณะศิลปะศาสตร์ยังตั้งคำถามถึงการแสดง “เจตนาดี” ของรุ่นพี่ที่มีต่อรุ่นน้องว่าอาจไม่ตอบสนองความต้องการในการค้นหาตัวตนของชีวิตสำหรับคนที่อยู่ในวัยเปลี่ยนสถานะเข้าสู่การเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และอาจไม่ต่างจากการแสดงเจตนาดีของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ส่วนการรับน้องที่บอกว่าสร้างความอดทนนั้นเป็นความอดทนลักษณะใด นอกจากนั้นความรักพวกพ้อง ที่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ในระบบอุปถัมภ์ของรุ่นน้องรุ่นพี่รุ่นน้องในสถาบันเดียวกัน อาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ทีได้รับ แต่ในฐานะพลเมืองของสังคมซึ่งไม่ใช่นักศึกษาของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ระบบตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความ แตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย

วันรัก กล่าวด้วยว่า ขณะที่บุคคลที่สร้างความจดจำ ชื่นชม ในประวัติศาสตร์วรรณคดีหรือศิลปะ มักเป็นคนที่ความแตกต่าง ยกตัวอย่างเช่น แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh) ที่ท้าทายจารีตบางอย่างของขนบของงานศิลปะและค้นหาตัวเอง แต่ระบบโซตัสมีกระบวนการที่ต้องการทำให้ทุกคนเหมือนๆ กัน ไม่มีที่ยืนให้กับคนที่แตกต่าง ที่ถูกเรียกว่าเพี้ยน และคนเหล่านี้ก็จะถูกผลักให้ออกจากกลุ่ม       

การรับน้อง ประเพณี และภาระหน้าที่ต่อสังคม
“ความจริงระบบซีเนียริตี้ (Seniority) นี้ดี แต่ความดีมันก็ต้องมีกาลเทศะ หมายความว่าคนที่จะใช้ก็ต้องรู้จักเทคนิคพอสมควร คุณค่าของความดีไม่มีสูญไม่มีหาย แต่ความดีจะสูญหายไปได้เพราะคนที่จะเอาความดีมาใช้ ยังไม่รู้จักเลยว่าความดีนั้น คืออะไร” หนึ่งในประโยคเด็ดของนายทองปน บางระจัน ตัวละครจากหนังสือ 'หนุ่มหน่ายคัมภีร์' เขียนโดย สุจิตต์ วงศ์เทศ ซึ่งพิชญ์นำมากล่าวถึง

พิชญ์ เล่าต่อมาถึงประสบการณ์จากรั้วมหาวิทยาลัยว่า มหาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเมืองเบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพมาก มีพื้นที่ลานบริเวณหน้าตึกกิจกรรมนักศึกษามีหมุดเล็กๆ เขียนเอาไว้ว่า “พื้นที่นี้ และอากาศเหนือพื้นที่นี้ขึ้นไป จะไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐใด” เพราะในปี 1964-1965 มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอเมริกา โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่เคลื่อนไหวจนกระทั่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาและเสรีภาพในทางวิชาการได้เกิดขึ้น

แม้ว่าอเมริกามีมหาวิทยาลัยมานานมากแล้ว แต่มีการห้ามไม่ให้แสดงความเห็นทางการเมืองในมหาวิทยาลัย ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็นอื่นนอกจากความรู้ จนกระทั้ง มีการเคลื่อนไหวใหญ่ที่เบิร์กลีย์ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการล้มสงคามเวียดนามในหลังจากนั้น เริ่มต้นจากการตั้งคำถามของนักศึกษาวิทยาศาสตร์ ที่ทำงานวิจัยในฐานะแรงงานราคาถูกให้กับรัฐบาลว่าทำไมพวกเขาต้องทำงานวิจัยเพื่อผลิตอาวุธไปฆ่าคน และมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มตั้งคำถามว่าจะสามารถนำปัญหาภายนอกมหาวิทยาลัยมาคุยในมหาวิทยาลัยได้ไหม เพราะช่วงนั้นเริ่มมีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของคนจน คนผิวดำต่างๆ  

ในส่วนของประเทศไทย จากข้อมูลปีล่าสุดนี้ งบประมาณแผ่นดิน 7.2 หมื่นล้าน ถูกส่งให้มหาวิทยาลัย คิดเป็นอัตราเฉลี่ยงบประมาณการศึกษาสำหรับบัณฑิตในระดับอุดมศึกษากว่า 40,000 บาทต่อปี สำหรับนักศึกษาหนึ่งคน ดังนั้น หากจะพูดถึงระบบประเพณีต่างๆ คงหนีภาระหน้าที่ที่จะต้องมีต่อสังคมไปไม่ได้ เพราะว่าทุกคนกินภาษีของประชาชนอยู่ เรื่องนี้เป็นเรืองที่สำคัญ ไม่ว่าจะบอกว่าระบบอุปถัมภ์ดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่จะต้องพูดเสมอคือมันเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของคนอื่น เมื่อรัฐจะต้องเอาเงินก้อนนี้มาให้กับนักศึกษาแต่ที่จะนำไปใช้ในส่วนอื่น ดังนั้นจึงเป็นพันธะกิจสำคัญซึ่งไม่ต้องมาพูดถึงอุดมการณ์ แต่มันเป็นความจริงที่ต้องรู้ ทั้งนี้ยังไม่รวมความคิดที่ว่าเรียนจบแล้วต้องไปทำงานรับใช้คนอื่นหรือไม่

โซตัสในยุคทุนนิยม เมื่อเราต้องรักกันเพื่อความอยู่รอด 
พิชญ์ กล่าวถึงระบบโซตัสว่า มีวิธีอธิบายแบ่งเป็น 3 แบบ คำอธิบางแรกที่คนชอบใช้กันคือ โซตัสเป็นหน้าฉากหนึ่งของระบบเผด็จการ ส่วนคำอธิบายของเขาคือ ระบบโซตัสมีเหตุผลทางเศรษฐกิจรองรับ หมายความว่าประเพณีนี้ไม่ได้เป็นประเพณีที่อธิบายโดยตัวเองว่าดีมาตั้งแต่โบราณ แต่เป็นของใหม่ ดังนั้นคนที่รับรู้และสืบสานประเพณีเหล่านี้จึงมีวิธีคิดที่เรียกว่า “คำนวณแล้วว่าคุ้มค่า” (Calculative mind) ระบบอุปถัมภ์จึงดำรงอยู่ ตัวอย่างเช่นยอมให้พี่ 1 ปี แล้วได้รับน้องอีกอย่างน้อย 3 ปี และในความเป็นจริงการรับน้องในปัจจุบันไม่ได้โหดร้าย แต่จะออกมาในแนวขำขัน สนุกสนาน โดยเป็นการเอากิจกรรมเหล่านี้เข้าไปสวมระบบประเพณีเก่า ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในโครงสร้างเช่นนี้เพราะรุ่นพี่ต้องการสร้างความยอมรับจากรุ่นน้อง

“ทฤษฎีของผมคือในยุคทุนนิยม ประเพณีนี้จะยิ่งสืบสานเพราะว่าการแข่งขันในตลาดแรงงานมีสูง ยิ่งเป็นอย่างนี้มันยิ่งมีเหตุผลที่รุ่นพี่รุ่นน้องจะต้องรักกันมากขึ้น” พิชญ์กล่าว และย้ำว่าตรงนี้เป็นการคาดคำนวณในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจที่รองรับให้ต้องมีระบบนี้อยู่

พิชญ์ แสดงทัศนะด้วยว่า ระบบโซตัสไม่ใช่เรื่องของคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อย แต่เป็นการครอบงำทางความคิดตามภาษาทางสังคมศาสตร์ที่ต้องทำทุกวัน ต้องหาเหตุผลให้มันทุกวัน และการที่เราถูกครอบงำได้ไม่ใช่ว่าเรามีความสุขกับระบบนี้แต่มันทำให้เราคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ ดังนั้น คนที่อยู่ในระบบนี้ไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ส่วนน้อย เพราะไม่มีใครที่ชอบระบบนี้มากๆ ทุกคนจะเชื่อว่าเราน่าจะไปปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้ แต่ก็ไม่มีคนที่สามารถจะบอกว่าระบบนี้ไม่มีไม่ได้หรือ ทุกคนพยายามหาเหตุผลที่ดี เพื่อที่จะทำให้ส่วนที่ดีของมันอยู่ต่อไป

ผู้ปกครองไม่สามารถปกครอง เหตุผลที่ทำให้โซตัสดำรงอยู่ได้
พิชญ์ กล่าวต่อมาว่า การที่ระบบโซตัสดำรงอยู่ได้เพราะเป็นระบบอาณานิคมที่ผู้ปกครองไม่สามารถปกครองคนได้ทั้งหมด จึงต้องมีการปกครองโดยใช้ระบบซุ้ม ระบบเลี้ยงนักเลงเพื่อควบคุมคน เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่สามารถในการระดมนักศึกษามาทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยได้ นี่คือโครงสร้างส่วนบนที่มองไม่เห็นของระบบอุปถัมภ์ชุดนี้ทั้งหมดของระบบโซตัส แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเรียกได้ว่าเป็นพิธีกรรม แต่อีกส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยไทยอิงกับการสอน การวิจัย และพิธีกรรม ซึ่งพิธีกรรมคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงมหาวิทยาลัยเอาไว้ ทำให้มหาวิทยาลัยมีเงินจากศิษย์เก่า ได้รับการยอมรับจากตลาดแรงงานโดยศิษย์เก่าที่จบออกไปให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ การจะทำให้ประเพณีเหล่านี้อยู่ได้จะต้องมีมวลชนรองรับ

“การที่ผู้บริหารปล่อยให้ระบบนี้อยู่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริหารไม่สามารถดูแลนิสิต นักศึกษาได้ทั้งหมด และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือจำเป็นจะต้องมีเอาไว้จึงหลับตาข้างหนึ่งเหมือนกับตำรวจเลี้ยงนักเลง” อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครองกล่าว 

แนะหากระบบมีปัญหา ให้ฟ้องกรรมการสิทธิ์ฯ
พิชญ์ นำเสนถึงทางออกว่า 1.หากคิดว่าระบบโซตัสมีปัญหา ให้ฟ้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2.ส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสา จิตสาธารณะ หรือกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งหากคิดในแง่ที่สัมพันธ์กับการเมืองตรงนี้จะช่วยให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพสูงขึ้น เพราะการเลือกตั้งในสายปรัชญาการเมืองบางสายไม่ได้ทำให้สังคมดีที่สุด แม้ว่าจะเป็นเสียงข้างมาก แต่หากเป็นเสียงข้างมากที่เห็นแก่ตัวก็อาจรับแต่ผลประโยชน์ในระยะสั้น ซึ่งการทำกิจกรรมจิตอาสาจะพัฒนาการเลือกตั้งให้ดีขึ้นได้ โดยทำให้นักศึกษาหรือคนทั่วไปหันไปช่วยคนอื่นๆ เมื่อจะต้องตัดสินใจในเรื่องสาธารณะก็จะสัมพันธ์กับคนอื่นได้มากขึ้น ทำให้การหาผลประโยชน์เข้าตัวก็จะคำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอื่นมากขึ้น
3.ผู้บริหารสถานศึกษาต้องหากิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้รุ่นพี่ได้รับการยอมรับจากรุ่นน้อง โดยไม่ใช่การใช้กำลังบังคับ แต่ให้รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ด้วยผลงาน และ 4.การรับน้องแบบเผด็จการควรเป็นการกระทำโดยสมัครใจที่ทำนอกมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทำในมหาวิทยาลัยแล้วพยายามหาเหตุผลรองรับ

“คำ ผกา” ตั้งคำถามถึงน้องใหม่ ทำไมต้องยอมจำนน
คำ ผกา กล่าวถึงประสบการณ์การเป็นน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า เธอไม่ผ่านการรับน้อง ไม่เคยเข้าห้องว้าก ไม่ร่วมประเพณีวิ่งขึ้นดอยของมหาวิทยาลัย รวมทั้งร้องเพลงเชียร์ของคณะและเพลงมหาวิทยาลัยไม่ได้แม้แต่เพลงเดียว แต่การที่ไม่ร่วมกิจกรรมเหล่านี้ขณะที่เพื่อเข้าร่วมไม่ได้ส่งผลให้ใครมาทำอะไรเธอได้ ทำให้รู้สึกแปลกใจว่าทำไมการรับน้องในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งกลายเป็นสิ่งที่รุ่นน้องยอมจำนน ส่วนข้ออ้างเรื่องการไม่ได้รุ่นนั้นเธอไม่สนใจ ไม่แคร์รุ่นพี่ คิดว่าไม่เอารุ่นก็ได้เพราะรู้สึกว่าตัวเองแกร่งพอที่จะไม่พึ่งพาระบบอุปถัมภ์แบบนั้น

“คุณไม่มันใจในศักยภาพของตัวคุณเอง ว่าคุณสามารถเติมโตในการทำงาน หรือสมัครงาน หรือไปทำอะไรก็ได้ในชีวิตนี้หลังจากเรียนจบโดยไม่ต้องพึ่งพารุ่นพี่” คำ ผกา กล่าวถึงเหตุผลที่คนไม่กล้าปฏิเสธระบบว้ากหรือการรับน้อง และกล่าวต่อมาถึงประเพณีแบบ Public school ที่มีเรื่องชนชั้นมากำหนด ซึ่งจะเกี่ยวพันธ์กับการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ในอนาคต ว่าอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง

คำ ผกา กล่าวต่อมาว่า นอกเหลือจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ทางการเมืองแล้ว คำพูดหรืออุดมการณ์ที่อยู่ในการรับน้อง ซึ่งรับมาจากระบบของต่างประเทศเมื่อเขามาในเมืองไทยได้มาผสมผสานกับวิธีคิดทางการเมือง วิธีคิดทางอำนาจแบบไทยๆ และคำอธิบายเรื่องการรักพวกพ้อง เรื่องรุ่น เรื่องการรักสถาบัน แล้วพยายามสลายพฤติกรรมของคนหมู่มาก โดยทำลายการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นที่สั่งสมมาก่อนหน้านี้ ด้วยพิธีพิธีกรรมการรับน้องในมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนจากสถานที่ที่ทำให้คนมีปัญญามากขึ้น กลายเป็นสถานที่ที่จะทำให้คนที่เข้ามาอยู่มีปัญญาน้อยลง นอกเหนือจากการเรียนเพื่อฝึกทักษะทางอาชีพซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

มหาวิทยาลัยทำให้คนตั้งคำถามและท้าทายต่ออำนาจได้น้อยลง และรักษาความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบผู้น้อยผู้ใหญ่เอาไว้มากที่สุด เพราะฉะนั้นการนับถือรุ่นพี่ก็จะนับถือแค่ว่าอยู่ปีสูงกว่า อายุมากกว่า แต่ไม่ได้ดูว่ารุ่นพี่มีผลงานอะไรให้น่านับถือบ้าง

นอกจากยังมีปมด้อยเรื่องศักดิ์ศรีด้วย จากที่จะเห็นว่าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ฯลฯ พัฒนาการว้ากให้เป็นเรื่องขำมากขึ้น แต่มหาวิทยาลัยเล็กๆ หรือมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ซึ่งไม่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานก็ใช้การรับน้องมาสร้างความภาคภูมิใจให้กับสถาบัน ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่อง “วิกฤติทางอัตลักษณ์” คือมหาวิทยาลัยยิ่งเล็กการรับน้องก็จะยิ่งโหด

“ไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหาอะไรได้ นอกจากเด็กปีหนึ่งทุกคนจะต้องปฏิเสธระบบนั้นด้วยตัวเอง” คำ ผกา กล่าว แต่คำถามของเธอก็คือขณะนี้ยังเห็นเด็กปีหนึ่งทุกคนใส่ป้ายและมีซีเรียลนัมเบอร์เหมือนเป็นสัตว์ในฟาร์ม แล้วก็มีความสุข มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้

“ทำไมเด็กปีหนึ่ง ไม่สามารถออกจากระบบนี้ได้ด้วยตนเอง หรือว่ายังเอ็นจอยความสัมพันธ์แบบซาดิสม์ มาโซคิสม์ กันอยู่แบบนี้” คำ ผกา ตั้งคำถาม

คำ ผกา กล่าวต่อมาว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนคือต้องเปลี่ยนอุดมการณ์ของสังคมทั้งหมดว่าความภาคภูมิใจ ศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ที่ความยิ่งใหญ่ของสถาบันในเชิงพิธีกรรม แต่อยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยมีคนได้รางวัลโนเบลกี่คน มหาวิทยาลัยมีศิษย์เก่าไปแสดงนิทรรศการ และได้รับการยอมรับในระดับโลกอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการยกเลิกการใส่เครื่องนักศึกษา เพราะการจำนนต่อเครื่องแบบนักศึกษาเป็นสัญลักษณ์ของการจำนนต่ออำนาจตั้งแต่แรกแล้ว

“การรับน้อง การว้ากจะไม่เปลี่ยนไปเลย ตราบใดที่มหาวิทยาลัยไทยยังให้นักศึกษาแต่เครื่องแบบ” คำ ผกา กล่าว และเสริมว่า การไปให้ความสำคัญกับเข็ม หรือหัวเข็มขัด คือการไม่ย้ายศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจออกมาจากประวัติศาสตร์ จากพิธีกรรมไปสู่ผลงาน หรือเนื้อหา
คำ ผกา กล่าวด้วยว่า การรับน้องที่ยังตกค้างอยู่ในมหาวิทยาลัยไทย สอดคล้องกับภาวะความกลัวต่อความเป็นประชาธิปไตยในสังคม เพราะว่าสังคมที่กลัวการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องการประชาชนที่เชื่อฟังและรักในประเพณี โดยไม่สนใจว่าประเพณีนั้นจะมีเนื้อหาที่เหมาสมกับยุคสมัยหรือไม่ และต้องการเน้นความรักในสังกัดของตนเอง รักในรุ่นพี่ รักคณะ รักมหาวิทยาลัย ซึ่งสังกัดที่ใหญ่ขึ้นคือการรักชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา เน้นความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“ตราบใดที่เรายังปล่อยให้วัฒนธรรมและอุดมการณ์ที่ยังอยู่ในการว้าก การรับน้องดำเนินต่อไปโดยไม่สิ้นสุด มันก็จะเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงสภาวะของความไม่เป็นประชาธิปไตยไทยต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

จดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามและสังคมไทยเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการรับน้อง/ห้องเชียร์



สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรม “รับน้อง” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งถูกเผยแพร่ทางยูทูปตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2554 ระบุว่าเป็นภาพเหตุการณ์ในคืนวันที่ 5 มิถุนายน 2554 นั้น พวกเรา กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรมเพื่อสังคมและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในประเด็นนี้ ต้องการแสดงความวิตกกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรม “รับน้อง” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมถึงในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ และต้องการให้กำลังใจกับกลุ่มนักศึกษาเสียงข้างน้อยกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของทุกคนในการแสดงความเห็นตามวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยและสันติวิธี

พวกเราทุกคนตามรายชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ รู้สึกหดหู่และสะท้อนใจกับสิ่งที่นักศึกษาส่วนใหญ่กระทำกับนักศึกษาผู้ประท้วงกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกับทัศนคติและท่าทีของผู้จัดกิจกรรมที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง และไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาผู้ประท้วงได้ทำการชี้แจงและ/หรือเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงกว้างกับนักศึกษาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด

พวกเราทุกคนมีความเชื่ออย่างมั่นคงและจริงใจว่ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานศึกษาขั้นสูงต้องเป็นพื้นที่ที่สมาชิกทุกคนได้รับการประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขั้นพื้นฐาน และควรเป็นสถานที่บ่มเพาะและขัดเกลาให้เชื่อมั่นและยึดถือในคุณค่าประชาธิปไตยและคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมของทุกคน ไม่ใช่สถานที่บ่มเพาะและปลูกฝังให้ยอมจำนนต่อการใช้อำนาจที่ไร้ความชอบธรรมหรือการบังคับกล่อมเกลาให้ฝักใฝ่ในระบบเผด็จการอำนาจนิยม รวมทั้งระบบอุปถัมภ์แบบจารีต ซึ่งสวนทางกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่าง หรือหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั่วไปในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาจนอาจเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอัน “ศักดิ์สิทธิ์” ที่ไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือ “ลบหลู่” ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ว่าได้ ดังจะเห็นได้จากข้อโต้แย้งหรือคำอธิบายของผู้จัดกิจกรรมตามที่ได้ประจักษ์จากวิดีโอนี้ พวกเราจึงเชื่อมั่นว่าวัฒนธรรมการรับน้องแบบนี้จะยังเกิดขึ้นต่อไปในสถานศึกษาทุกแห่งตามที่เคยได้ปฏิบัติกันมา หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและค่านิยมของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตัวนิสิตนักศึกษาเอง

ถึงแม้พวกเราจะเชื่อว่ากิจกรรม “รับน้อง” ที่ถูกออกแบบจากวิธีคิดดังกล่าว ในนามของระบบ “โซตัส” จะเป็นกิจกรรมที่ ไม่สร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ความรุนแรงอย่างเสรี ปลอดจากความรับผิดชอบและไม่ควรจะได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นต่อไปอีกนั้น แต่พวกเราก็ไม่เชื่อมั่นเช่นกันว่าการบังคับออกคำสั่งจากผู้บริหารสถานศึกษาหรือการกำหนดบทลงโทษกับนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ที่จะทำให้ระบบการศึกษาไทยหลุดพ้นจากวัฒนธรรมเผด็จการอำนาจนิยมไปได้

พวกเรากลับเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะต้องเกิดจากความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อของนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการนักศึกษาทั้งระบบ รวมถึงการตระหนักรู้ต่อความอันตรายและผลกระทบเชิงอุดมการณ์ของระบบ “โซตัส” นี้จากสังคมไทยเองด้วย สุดท้าย พวกเราขอให้กำลังใจกับนักศึกษาผู้ประท้วงในเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งนิสิตนักศึกษาและ/หรือผู้ใดก็ตามที่เชื่อมั่นในแนวทางเดียวกันและกำลังสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่เพื่อช่วยให้ระบบการศึกษาของไทยหลุดพ้นจากค่านิยมและทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเช่นนี้

ลงชื่อ

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
พวงทอง ภวัครพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศุภวิทย์ ถาวรบุตร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วรวิทย์ ไชยทอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริยกร ปุสวิโร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ศุภฤทธิ์ ศิลารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา) นักเขียน คอลัมนิสต์
ธนาวิ โชติประดิษฐ นักศึกษาปริญญาเอก Birkbeck, University of London
ธนศักดิ์ สายจำปา นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นรชิต จิรสัทธรรม
พัชรี แซ่เอี้ยว
พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
ชุมพล นนทาโซะ
ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร นิสิตภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ร้านหนังสือก็องดิด
ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ กองบรรณาธิการเว็บไซต์โลกสีเขียว
ณัฐเมธี สัยเวช บรรณาธิการสำนักพิมพ์ชายขอบ
ผกามาส คำฉ่ำ อาสาสมัคร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

........


....

ร่วมลงชื่อได้ที่นี่ http://www.facebook.com/event.php?eid=125579787523543
ข่าวเกี่ยวกับจดหมายเปิดผนึก http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35348
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1307627292&grpid=01&catid&subcatid
http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n3_10062011_02

Travel Writings on Indochina

I've been collecting a collection of travel writings on Indochina at the fin de siècle: Morice Docteur, 'Voyage en Cochinchine',...