ศิลปะหลังการสังหารหมู่ พฤษภา 53

ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม http://prachatham.com/detail.htm?code=n2_08032011_02
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2554 ที่ผ่านมา ณ ร้าน "เล่าจ.เชียงใหม่ มีการจัดงานเปิดนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำ Gray "Red-Shirt" ของกานต์ ทัศนภักดิ์ ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ วันที่ 5 - 26 มีนาคม 2554 พร้อมการเสวนาเรื่อง"คน ศิลปะ การเมือง" โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ รศ.ดร. ไชยันต์ รัชชกูล อาจารย์สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ ม.พายัพวันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ
อ.วันรัก ได้เสวนาแลกเปลี่ยนถึง ศิลปะหลังจากมีเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง หรือ การสังหารหมู่เดือนพฤษภาคม 2553 ว่า มีปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมและงานศิลปะแบบใดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนนำมาสู่สิ่งที่เราเห็นรอบๆตัวเรา แล้วอภิปรายว่ามันเป็นการเมืองบนงานศิลปะอย่างไรและศิลปะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าในการช่วงชิงปริมณฑลของศิลปะมีความสำคัญมากเพียงใด

...................................................
 

Mass media cultural manifestation หลังการล้อมปราบ
สิ่งที่เกิดขึ้นและปรากฎอยู่ในสื่อกระแสหลักในสังคมไทย (Mass media cultural manifestation) ทำให้เกิดคำถามอยู่ในใจว่า หลังจากการสังหารหมู่แล้ว ในปริมณฑลของศิลปะมันจะสามารถสื่อถึงอะไรได้บ้าง แล้วมันยังมีวิธีการสื่อแบบใดได้บ้าง เป็นแบบเก่าที่เราเคยใช้มา หรือเราจำเป็นที่จะต้องสร้าง วิธีการ กระบวนการสื่อความหมายในงานศิลปะเหล่านี้ใหม่ (Renew)
หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ ประมาณ 1 เดือน มีงานเชิงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม อย่างคอนเสิร์ตที่ชื่อว่า "Together we can" ที่สยามพารากอน มีงานที่เป็นประวัติศาสตร์อันน่าละอายของเมืองไทยคือ Big Cleaning Day  และก็มีวันสังคมสงเคาระห์ที่จะให้คนเรารักกัน หรือที่เชียงใหม่ก็จะเห็นได้ว่ามีป้าย "เฮาฮักกัน" อยู่เต็มไปหมด
นอกจากนี้ ยังมีเพลงป๊อปเพื่อชีวิตในยูทูปเยอะมาก เป็น 10-20 เพลง เช่น เพลงขอความสุขกลับคืนมาของรวมศิลปิน หยุดทำร้ายประเทศไทยของคาราบาว(มีเสียงขลุ่ยด้วย ฟังแล้วเป็นสุนทรียศาสตร์) บ้านเราจะเหมือนเดิมของเจนิเฟอร์คิ้ม (อันนี้จะเป็นทำนองไทยเดิม มีหลากหลาย) รวมเป็นไทยของเสกโลโซ อยากเห็นคนไทยรักกันได้อย่างเดิม  เป็นต้น มีวีดีโอคลิป  และมีสิ่งที่น่าสนใจที่อาจสะท้อนงานวันนี้ คือ Photo Exhibition เป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่ชื่อว่า "คืนรอยยิ้มให้สยาม" เป็นภาพถ่ายรอยยิ้มของ ดารา ศิลปิน พวกไฮโซผู้มีชื่อเสียง(Celebrity) และคนสำคัญต่างๆซึ่งจัดอยู่ที่สยามเซ็นเตอร์  (ประเทศไทยเรามีความสุขมากหลังจากคนตายเป็นจำนวนมาก) มีนิทรรศการ Heart to Heart จากหัวใจถึงหัวใจ เป็นศิลปะเพื่อความหวัง ความสุข และความรัก (จัดวันที่ 31ส.ค.-31ต.ค.)
ในช่วงเวลาหกเดือนหลังเหตุการณ์ มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น  ถ้าเราฟังดูจะพบว่ามันมีความเป็น Common ด้วยกัน คือ เทคนิคของการสื่อ กลุ่มคำที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นความรัก รอยยิ้ม แล้วจะมีภาพแบบที่เราไม่ได้ไปดูก็พอเดาได้ เช่น ภาพคนพิการ ภาพเรารักในหลวง แลนด์ ออฟ สมายด์ คนไทยเราช่วยกัน และภาพสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ภาพศาสนาพุทธ เพราะคนไทยเราเป็นคนพุทธ เรารักกันผ่านสถานบันความเชื่อต่างๆเหล่านี้ ที่ผูกขาดความรักไว้
ในอีกด้านหนึ่งมีศิลปะที่เขาพยายามสื่อภาพตรงกันข้ามของสิ่งเหล่านี้  คือ ภาพความรุนแรงของคนเสื้อแดง เป็นภาพของการใช้อาวุธที่ดูไม่รุนแรง แต่มีการนำเสนอภาพให้ดูรุนแรง อันนี้คือ ปรากฎการณ์ของการเล่าเรื่อง กล่าวคือ เมื่อคุณมีเรื่องเล่าชุดหนึ่งที่คุณต้องการสื่อจากงานศิลปะ จะมีเรื่องเล่าอีกชุดหนึ่งที่ตรงกันข้าม ไม่ได้บอกตรงๆ แต่จะสื่อให้เราเห็น อันนี้เป็นประเด็นที่เห็นว่า เรื่องเล่าทางศิลปะก่อให้เกิดอำนาจ ซึ่งมันก็จะผูกโยงกับความเป็นการเมือง
และสิ่งหนึ่งที่มากับปรากฏการณ์ศิลปะของรัฐไทย ชนชั้นนำหรือชนชั้นกลางในเมือง คือมันไม่ได้มาแบบเชยๆ นิทรรศการเหล่านี้มันไม่เชยเลย มันเท่ห์ เจ๋ง แนวมาก ถ้าเราเป็นวัยรุ่นแล้วเราอยากจะแนวก็ต้องเสพงานเหล่านี้ เพราะมันสะท้อนความเป็นเรา
รัฐไทย หรือชนชั้นนำไทย มีความสามารถมากในการเอาความเจ๋งของกราฟฟริกดีไซน์ มาใช้เพื่อสถาปนาเรื่องเล่าแบบนี้ และมันยิ่งดูดึงดูดคนรุ่นใหม่ ถ้าเกิดใครได้ไปดูการชุมนุมครั้งใหญ่มาก ก่อน 19 กันยาฯที่ราชประสงค์ รอบเซ็นทรัลเวิร์ล จะมีคัตเอาท์ใหญ่มาก เป็นส่วนของนิทรรศการ Heart to Heart ซึ่งเป็นกราฟฟิกดีไซน์ เท่ห์มาก แต่ที่น่าสนุก คือ พอมีวันอาทิตย์สีแดงก็มีคนไปเขียนคำบางอย่าง(ที่พูดไม่ได้ในสังคม)
เราประมาทอำนาจทางสุนทรียศาสตร์ของรัฐไทยเป็นอย่างมาก เพราะเขาไม่ทำ "เชย เชย" เขาใช้ฟรอนซ์ นิวยอร์ก เขาใช้คนที่เป็นศิลปินหรือผู้นำทางความคิด ผู้นำทางศิลปะมาทำงานเหล่านี้ และมันผูกโยงเรื่องของวัยรุ่นด้วย เช่น ในกรณีของ Fat Radio ซึ่งเป็นรายการวิทยุของคนรุ่นใหม่ หรือเด็กแนว เปิดเพลงแนวอินดี้  แต่ตอนนี้ กอรมน. เข้ามาเทคโอเวอร์ โฆษณาเป็นของกอรมน.ทั้งหมด แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะเด็กแนวไทยมักจะเป็นขวาอนุรักษ์นิยม ทั้งที่ควรจะเป็นซ้ายแบบต่างประเทศ
กอรมน.เขาให้เงินเยอะมากและทำแคมเปญ ชื่อว่า โมโซ (Mo-so ย่อมาจาก Moderation Society ซึ่งแปลว่า สังคมพอประมาณ-ผู้เรียบเรียง) ถ้าใครขึ้นรถไฟฟ้า บีทีเอส ก็จะเห็นแคมเปญโฆษณา ซึ่งเขาทำได้เทห์มาก นี่คือสิ่งที่จัดแจงให้เป็น Mass Media culture จะเห็นว่าหลังการสังหารหมู่มันมีภูมิทัศน์เยอะมาก
เราควรจะตระหนักว่าในพื้นที่ของการต่อสู้ ซึ่งเรามักจะคิดว่ามันต้องผ่านเวทีวิชาการ แต่ว่ารัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อาจไม่ได้สนใจที่จะต่อสู้ในเวทีวิชาการ เครื่องมืออันหนึ่งของเขาที่น่าสนใจ คือ การใช้ Mass media culture รวมกับศิลปะในการปลูกฝังภาพแบบหนึ่ง และมันก็เวิร์กมาก ฉะนั้นเราควรตระหนักถึงความเป็นการเมืองของงานศิลปะ มันมีผลกระทบสูงในระยะยาวอย่างที่เราคาดไม่ถึง คนมักจะคุยกันแต่รัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ทางการเมือง ซึ่งก็ไม่ได้ปฏิเสธเพราะเป็นสิ่งจำเป็นมาก แต่ว่าคนที่ปิดใจเขาจะไม่ฟังหรอกว่า ทำไมต้อง "ตาสว่าง" หรือ เข้าใจภาพขาวดำในงานนี้ บางคนบอกมันคือภาพของความรุนแรง
เมื่อสังคมเข้ามาถึงความขัดแย้งระดับหนึ่ง จะไม่ยอมฟังอีกฝ่าย อย่างคนเสื้อแดงในระดับทั่วไปก็คงไม่ฟังสิ่งที่เสื้อเหลืองพูด ฉะนั้นงานศิลปะและงานเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งสำคัญมากในกระบวนการเปลี่ยนแปลง และเราไม่ค่อยพูดถึงเรื่องความเป็นการเมืองของศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเราควรตระหนักตรงนี้และนำมาใช้  เราควรจะเป็น Terrorist ทางวัฒนธรรม
การเปิดพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญและเราก็รู้อยู่ว่าในสังคมไทยที่มีการเซ็นเซอร์ที่ทุกอย่างถูกผูกขาดโดยสถาบันข้างบน พื้นที่มันไม่มีให้กับความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเปิดพื้นที่ของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การที่คนอื่นเข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกับเราด้วย

ศิลปะคนเสื้อแดง  ศิลปะกระแสรอง ปริมณฑลการต่อสู้
ในส่วนของคนเสื้อแดง ก็จะมีคอนเสิร์ตที่ธรรมศาสตร์  เป็นคอนเสิร์ตที่หลากหลาย เปิดโอกาสการถกเถียงกัน (discuss) กัน ใช้วิธีการเอากิจกรรมในการชุมนุมขึ้นเวทีเพื่อระดมทุนช่วยเหลือคนที่ติดคุก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ
แต่อย่างที่พูดกันว่าพื้นที่เหล่านี้ของคนเสื้อแดงถูกผูกขาด ฉะนั้นประเด็น คือ เราจะสร้างพื้นที่ขึ้นมาได้อย่างไร ในพื้นที่อันจำกัดที่ให้เราสามารถแสดงออกได้ และนำวาทกรรมกระแสรองให้ไปอยู่ในเรื่องเล่ากระแสหลัก อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯที่เรารับรู้ตอนนี้เป็นเรื่องเล่ากระแสรองในตอนนั้น  เพราะช่วงเวลานั้นไม่มีใครคิดว่านักศึกษาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันไม่ต่างกับที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ สิ่งที่เราต้องทำร่วมกัน คือ สร้างเรื่องเล่ากระแสรอง เพราะ ศิลปะหรือเรื่องเล่าที่เราสร้าง มันมีความเป็นประวัติศาสตร์อยู่แล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านไป มันอาจจะกลายเป็นเรื่องเล่ากระแสหลัก
เรามักจะรู้สึกเกินจริง(Overestimate) ไปว่า ปรากฎคนเสื้อแดงมันกำลังจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เหมือนกับว่า เราก็ต้องกลับมาดูที่ตัวเราว่า ถ้าเราออกไปจากวงของคนเสื้อแดง สิ่งที่เราคุยกันอยู่ เขาไม่รู้เรื่องเลย และไม่คิดที่จะรับรู้ด้วย   แต่เขาไปซาบซึ้งในงานศิลปะกระแสหลักที่ส่วนใหญ่เนื้องานเหมือนที่เราเรียนมาตอนประถม ผนวกกับ ช่อง 11
การปะทะกันของเรื่องเล่ากระแสหลัก กระแสรอง เราเห็นได้โดยทั่วไปอยู่แล้ว เราอ่าน เอเอสทีวี มติชน เราก็เลือกกันว่าจะเชื่อชุดไหน และมันเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีอยู่ในสังคม เพราะแต่ละคนย่อมเลือกที่จะเชื่อและยืนหยัดตรงนั้น ซึ่งตรงนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ปัญหาตอนนี้คือ คนที่ผูกขาดอำนาจหรือคนเลือกที่จะเชื่อแบบกระแสหลัก ห้ามคนอื่นที่คิดไม่เหมือนกัน ไม่ให้มีชีวิตอยู่ได้ อันนี้ต่างหากที่เราต้องปรับกระบวนทัศน์และฉันทามติทางสังคมใหม่ เราไม่ควรพูดให้คนมารักกัน แต่ทำยังไงให้เราเคารพและอยู่ด้วยกันได้บนความขัดแย้ง
ตอนนี้คำถามในงานศิลปะ ที่อยากจะให้ช่วยกันคิด คือ คุณจะผลิตงานศิลปะทุกอย่าง(รวมถึงกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น) อย่างไรหลังจากที่มีการฆ่าแล้ว ใช้ภาษาไหน อย่างไร
หากเรานึกถึงงานศิลปะหลังเหตุการฆ่าเรื่องการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกา (Post Africa"s Appetite) ซึ่งงานศิลปะมันเปลี่ยนแปลงทันที โดยคนแอฟริกาใต้หันมาเขียนงานเกี่ยวกับ "คนตัวเล็ก" เพราะเขาคิดว่าการพูดถึงงานทางการเมืองมันทำให้เกิดการสังหาร ต้องเปลี่ยนวิธีการอธิบาย(Mode of Expression) หรือในอินเดียก็มีการพูดถึงคนตัวเล็กหลังการสังหารหมู่อย่างงานเรื่อง "พระเจ้าของสิ่งเล็กๆ"
งานศิลปะในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะเครียด ไม่มีงานศิลปะที่ตลกแต่แฝงด้วยสัญญาลักษณ์อย่างงานของ Danksy ที่ถ่ายภาพตำรวจอังกฤษยืนฉี่ ซึ่งดูแล้วขำ แต่สะท้อนให้เห็นว่า สัญลักษณ์ทางอำนาจของรัฐอังกฤษเป็นเรื่องตลก
คนที่สนใจงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นซ้าย หรือขวา ต้องตั้งคำถาม
อ.นพพร พูดว่า "ถ้างานวรรณกรรมหรืองานศิลปะไม่มีเสรีภาพอยู่ภายใน งานนั้นก็เป็นแค่มายาคติ "

ความเป็นการเมืองของศิลปะ และงานภาพถ่าย Gray "Red-Shirt"
เรามักจะพูดว่าศิลปะมาจากจุดยืน อุดมการณ์ ทางการเมือง ซึ่งก็ยังสงสัยอยู่ว่าจำเป็นหรือเปล่าที่ศิลปะต้องสร้างเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่ง  และเป็นประเด็นที่คนเถียงกันเยอะมาก   อย่างในรัสเซียหรือจีน มีศิลปะการโฆษณาชวนเชื่อ(Propaganda) เรื่องสังคมนิยม หรือในเมืองไทยก็มี แต่ว่าในภาวะอย่างนี้สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการสร้างงานศิลปะอย่างภาพชุดนี้ คือมันมี "เรื่องเล่า" ของมันอยู่ และ "เรื่องเล่า"นี้เป็นสิ่งที่คนอยู่กับมันทุกวัน ทุกเวลา อย่างเช่น เราจะเดินไปมช.มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่เราอาจจะเล่าแบบไหนก็ได้ อาจจะเล่าว่าเห็นนกเห็นไม้ อันนี้เป็นเรื่องเล่าที่เราต้องเล่าออกมา มันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางศิลปะที่ก่อให้เกิด "เรื่องเล่า"
อย่างงานในวันนี้เราลองมาดูเรื่องเล่า ว่าเป็นเรื่องเล่าแบบใด เอาตัวเองเข้าไปผูกกับมันได้แค่ไหน แล้วเรื่องเล่านี้มันสะท้อนอะไร มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า
ศิลปะคือการกระแทก บ่อนเซาะ ความจริงที่เราถือว่าเป็นธรรมชาติ อย่างความรักต่างๆที่เรามักจะถือว่ามันเป็นธรรมชาติ อย่างความรักพ่อแม่เรารักเพื่อนเราถูกถือว่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่สุด แต่โดยเนื้อแท้ทางงานศิลปะถือว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นให้มีความเป็นธรรมชาติ  นี่คือ Narrative ชุดหนึ่งว่าเราจะต้องรักพ่อแม่ เป็นผู้หญิงเราต้องเป็นผู้หญิงแบบนี้ เป็นพลเมืองไทยต้องเป็นพลเมืองแบบนี้ เป็นต้น
หลังการสังหารหมู่แล้วคิดว่าควรจะมีงานศิลปะที่บ่อนเซาะตั้งคำถามต่างๆ  สร้างจิตสำนึกของความเป็นกบฎ และคิดว่ามีแต่งานศิลปะที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้
งานชุดนี้ที่อ.ไชยันต์บอกว่ามันทำให้เราเห็นภาพคนตัวเล็กๆ  มันจึงนำไปสู่การตั้งคำถาม  และการตั้งคำถามจะต้องนำไปสู่การถกเถียง สิ่งที่เมืองไทยไม่มี ก็คือมีพื้นที่ของการถกเถียงหลังการตั้งคำถาม ซึ่งเราต้องเปิดพื้นที่นี้เยอะๆ อย่างในประเทศที่เขาพัฒนาแล้วจะมีองค์กรศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Art for change) และมีคำหนึ่งที่ชอบมาก คือ "Art the change your self  (จงทำความเปลี่ยนแปลงให้เป็นศิลปะด้วยตัวของคุณเอง) และมันโยงมาเรื่องผู้ก่อการร้ายทางวัฒนธรรม ซึ่งมันจำเป็นอย่างมากต่อสังคมเราที่ไม่มีพื้นที่เพราะข้อจำกัดทางกฏหมาย และมันจะทำให้เกิดพลังอะไรบางอย่าง
สิ่งนี้เองที่ทำให้งานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ทางศิลปะที่เกิดขึ้นหลังการสังหารหมู่ แต่คำถามต่อมาคือ วิธีการนำเสนอมันได้เปลี่ยนแปลงอะไรบ้างหรือเปล่า แล้วเราจะพูดถึงการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองด้วยภาษาแบบเดิมได้หรือเปล่า อย่างที่อ.ชูศักดิ์ พัฒนกุลวานิช วิจารณ์บทกวีของคุณกฤตว่า ใช้มลภาวะทางภาษาใส่เข้าไปในบทกวี ผลที่เกิดขึ้นแทนที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง คุณกลับผลิตซ้ำวาทกรรมเดิม
งานชิ้นนี้ของคุณ กานต์ มันทำให้เกิดคำถามที่ว่า มันต้องมีการฆ่าก่อนเหรอ ถึงจะมีการ Renew งานศิลปะ และตอนนี้งานศิลปะมันน้อยแล้ว ความหลากหลายยังน้อยอีก งานกวีนิพนธ์ที่เราอ่านกันก็ปลุกเร้าดี แต่มันยังน่าเสียดายที่ยังใช้วิธีการและสัญลักษณ์ชุดเดิม  (หรือว่ามันจำเป็น) มันจึงไม่นำไปสู่ความเป็นไปได้ในความฝันแบบใหม่
ตอนนี้สังคมไทยขาดการเปิดวิสัยทัศน์ว่า มันสามารถมีสังคมแบบอื่นได้อีก สังคมไทยไม่จำป็นที่จะต้องสามัคคีกัน  ภาพสังคมแบบอื่นที่ไม่ต้องสามัคคีกันมันมีได้

Travel Writings on Indochina

I've been collecting a collection of travel writings on Indochina at the fin de siècle: Morice Docteur, 'Voyage en Cochinchine',...