มายาคติของอวตาร


บทความวิจารณ์ “อวตาร” ที่มีออกมามักจะมองว่าหนังเรื่องนี้ปฏิวัติวงการทำหนังในแง่ของเทคโนโลยีหรือไม่ก็ชื่นชม “ข้อคิดปรัชญา” ที่หนังเรื่องนี้นำเสนอว่าเป็นประเด็นที่คนในสังคมปัจจุบันควรเริ่มหันมาสนใจอย่างจริงจัง

ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นมองต่างไป ความรู้สึกแรกคือตื่นตาตื่นใจกับความก้าวหน้าทางเทคนิคที่ก้าวไกลสมคำเล่าลือจริงๆ แต่อีกด้านหนึ่งคือ ความกระอักกระอ่วนฉงนสนเท่ห์่กับเนื้อเรื่องที่ปรากฏในหนัง เพราะนี่คือ การจับมายาคติทุกอย่างในสังคมหลังโลกาภิวัฒน์มาคลุกเคล้ารวมกันให้ดูเนียน ผ่านการเล่าเรื่องที่เป็นสูตรสำเร็จ ภายใต้วาทกรรมเรื่องเล่าแม่บทที่เข้าขั้นไร้รสนิยมของมุมมองแบบมีตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (eurocentricism) แล้วยกระดับด้วยประเด็นฮ็อตอย่างปัญหาโลกร้อนและการใช้ความรุนแรงให้ดูเป็นหนังที่ใส่ใจสังคมโลก ยังไม่พอๆ ที่สุดยอดที่สุดคือปฏิบัติการทำให้ “เมสเสจ” ของหนังกลายเป็นประเด็นอภิปรัชญาด้วยการเพิ่มอุดมคติเรื่องจิตวิญญาณและความกลมกลืนสมบูรณ์ของสรรพสิ่ง

ระหว่างนั่งดูหนัง ข้าพเจ้าพยาย้ามพยายามที่จะไม่รู้สึกว่า ชนพื้นเมืองของดาวแพนดอรานี่ถอดแบบมาจากชนพื้นเมืองแอฟริกาที่เป็น “วัตถุ” (object) ของการศึกษาของพวกนักมานุษยวิทยาผิวขาวที่เริ่มต้นมาจากยุโรปและอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต้น 20 แต่ความพยายามของข้าพเจ้าดูจะไร้ผล เนื่องจากยิ่งดูไปเรื่อยๆ ยิ่งเห็นภาพที่เป็น “มายาคติ” ทั้งหลายที่ “ฝรั่งผิวขาว" มีต่อ “ชนพื้นเมือง” ไม่ว่าจะเป็น ภาพของการแต่งกาย การเคลื่อนไหว การจัดการทางสังคม และที่ขาดไม่ได้คือ “พิธีกรรม”

แต่ที่หนังเรื่องนี้ทำได้ลุ่มลึกไปกว่ามายาคติทั่วไปที่เรามีต่อ “พวกล้าหลังป่าเถื่อน” คือความพยายามในการให้คุณค่าใหม่กับชนพื้นเมือง นับว่าเป็นมรดกทางอ้อมของข้อเสนอของนักมานุษยวิทยานามอุโฆษ โคลด เลวี-สโตรส์ (Claude Lévi-Strauss) ที่มองว่าชนพื้นเมืองไม่ได้มีตรรกะที่ล้าหลังไปกว่ากลุ่มชนผิวขวาเลย ทุกอย่างในปรากฏการณ์ทางสังคมของพวกเขามี “โครงสร้าง” ทางความคิดเช่นเดียวกับของคนผิวขาว อีกนัยหนึ่งคือ “ความเป็นสากล” มีอยู่ในทุกๆสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือในสังคมแบบดั้งเดิม (primitive)

แต่ทีมเขียนสคริปต์ดูจะล้ำหน้าไปไกลว่าที่เลวี-สโตรส์เสนอเสียอีกเพราะพยายามบอกว่า จริงๆแล้ว ชนพื้นเมืองเหนือกว่าคนผิวขวา (ไม่ได้ “เท่ากัน” นะแต่ “เหนือกว่า”) เพราะพวกเขาใช้ชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ในขณะที่ความก้าวหน้าของคนผิวขวากลับสวนทางกับการธำรงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของธรรมชาติ

นี่มันวาทกรรมว่าด้วยการกลับไปหาคุณค่าต้นกำเนิดของมนุษย์ก่อนการมีขึ้นของวัฒนธรรม! ว่าด้วยคุณค่าทางจิตวิญญาณเหนือคุณค่าทางวัตถุ ซึ่งต้องเข้าถึงผ่านช่องทางที่เหนือธรรมชาติเท่านั้นขอเพียงมี “ศรัทธา” ใน “คุณค่าอันดีงาม” อันเป็นสากลตามแบบมนุษยนิยมคลาสสิก! (นี่มันข้อความที่รัฐไทย propaganda อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่แปลกทำไมเราไม่เซ็นเซอร์หนังเรื่องนี้แบบเมืองจีน)


จากความขัดแย้งชาวเนวี/มนุษย์โลก หนังนำเราไปสู่ประเด็นร่วมสมัยฮ็อตฮิตอย่างความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่และชนพื้นเมือง (เพราะใต้ต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นบ้านของเผ่าเนวีนี้มีน้ำมัน เอ้ย ไม่ใช่ แร่ธาตุที่มีค่า) เรื่องการบังคับย้ายผู้คนออกจากถิ่นที่อยู่ที่ของเขา (relocate คนจากมาบตาพุตให้ย้ายออกไปตั้งรกรากที่อื่น เอ้ย ผิดประเทศแล้ว หนังพูดถึงดาวแพนดอรา !) การประณามการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการใช้ความรุนแรง (อ้อ มันคือการประณามนโยบายต่างประเทศของสหรัฐเรื่องอีรัก อาฟกานิสถาน อิหร่านและสามจังหวัดชายแดนใต้ เอ้ยๆ ผิดประเทศอีกแล้ว !) และที่เจ๋งสุดๆคือการพูดถึงผลของการทำลายธรรมชาติจากน้ำมือมนุษย์ นั่นคือ ปัญหาโลกร้อนนั่นเอง !

แต่ภาพและข้อคิดที่ถูกนำเสนอเหล่านี้ ที่ดูเผินๆเหมือนกับ “การใส่ใจตะหนักรับรู้” กับปัญหาของคนอื่น แท้จริงคือ ผลผลิตของการผลิตซ้ำของวาทกรรมแบบมีตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (eurocentricism) ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ฉาบฉวย ไร้รสนิยมและสนองต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตัวเองเท่านั้น เป็นวาทกรรมของ “คนดี” มีจริยธรรมที่ใส่ใจปัญหาของ“คนอื่น” เป็นวาทกรรมของคนเมืองที่อยู่บนหอคอยงาช้างของจริง

แต่นี่ล่ะหนาคือเหตุผลว่าทำให้หนังเรื่องนี้จึงทำรายได้ถล่มทลาย เพราะ “โดน” จริตชนชั้นกลางของทั้งสามโลกเข้าอย่างจัง (คือโลกที่หนึ่ง ที่สอง และที่สามโซนกำลังพัฒนาอย่างเรา)

ดังนั้น กลุ่มผู้ชมของหนังเรื่องนี้จึงเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่ในชีวิตประจำวันทุกๆวันไม่เคยคิดจะสนใจเรื่องคนอื่นแบบจริงจัง และการไปดูหนัง นอกจากเพื่อความบันเทิงทางสุนทรียะแล้ว ก็เป็นไปเพื่อจรรโลงใจตัวเองให้ได้รู้สึก “สงสาร” และดูเหมือน “ตระหนัก” กับปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้นกับ “คนอื่น” ในโลกนี้

นี่คือกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมารณรงค์ใน facebook หรือใน Twitter ให้เข้าไปบริจาคเพื่อเฮติ และก็เป็นกลุ่มคนเดียวกันนี้เองที่จะเบือนหน้าหนีหรือฟังไปผ่านๆเวลาที่มีข่าวเรื่องทนายสมชายถูกอุ้ม คนม้งถูกส่งกลับ โรฮินญาตายกลางทะเลหรือคนงานหญิงไทรอัมพ์ถูกตำรวจปราบปรามการชุมนุมโดยการใช้เครื่องเสียงความถี่สูง (LRAD) ที่เป็นอันตรายต่อโสตประสาท ฯลฯ

ดังนั้น หลังจากดู “อวตาร” ก็ไม่น่าแปลกใจว่าพวกเขาจะรู้สึกปลื้มใจกับตัวเอง มีความสุขและอิ่มบุญ เช่นเดียวกับความรู้สึกอิ่มเอมหลังจากได้ไปไหว้พระ 9 วัด หรือตักบาตรวันพระ หรือถวายสังฆทานในวันหยุดยาวกับครอบครัว


ตีพิมพ์ใน "จุดประกายภาพยนตร์" กรุงเทพธุรกิจ 29 มกราคม 2553

No comments:

Post a Comment

Travel Writings on Indochina

I've been collecting a collection of travel writings on Indochina at the fin de siècle: Morice Docteur, 'Voyage en Cochinchine',...